Enter your keyword

Udachi Series: Saint Petersburg

Udachi Series: Saint Petersburg

เซนต์ปีเตอร์บิร์ก (Saint Petersburg)

        หนึ่งในเมืองที่สวยที่สุดไม่เพียงแต่ท่ามกลางเมืองในประเทศรัสเซียด้วยเอง แต่ยังสวยงามเทียบเท่าเมืองดังในระดับโลก เสน่ห์และความงดงามของเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเป็นเรื่องราวที่ใครที่มาเยือนก็ต้องกล่าวถึง เดิมทีเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเป็นพื้นที่ที่เป็นที่หมายปองของจักรวรรดิต่างๆ รวมถึงจักรวรรดิรัสเซียด้วย เนื่องจากมีชัยภูมิที่ดี มีทางออกสู่ทะเลบอลติก เชื่อมต่อไปยังทวีปยุโรปได้ พระเจ้าซาร์ปีเตอร์ในขณะนั้น หมายมั่นปั้นมือ สู้ศึกกับชาติยุโรป เพื่อยึดครองดินแดนดังกล่าวได้จนสำเร็จ ด้วยพระราชประสงค์อันแน่วแน่ ทำให้ซาร์ปีเตอร์ตัดสินใจเร่งสร้างเมือง และย้ายเมืองหลวงจากกรุงมอสโก ไปยังกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในปี ค.ศ. 1712 โดยสร้างเมืองให้มีความคล้ายคลึงกับยุโรป ทิ้งศิลปะดั้งเดิมแบบรัสเซีย เป็นเมืองหลวงเดียวที่ไม่มีเครมลินหรือป้อมปราการแบบรัสเซีย แต่มีป้อมปีเตอร์และพอลเป็นศูนย์กลางแทน

        จักรวรรดิรัสเซียภายใต้การปกครองของราชวงศ์โรมานอฟ มีความรุ่งเรืองเป็นอย่างยิ่ง ศิลปะและวิทยาการได้แผ่ไพศาลไปในช่วงเวลาดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยของซารีน่าอลิซาเบธ ที่เพื่องฟูไปด้วยศิลปะวัฒธรรมจากตะวันตก มีการขยายและต่อเติมพระราชวังให้หรูหรา ประเมินค่ามิได้ เปี่ยมล้นไปด้วยเพชร นิลจินดา และของมีค่าจากทุกแห่งหนทั่วโลก และยิ่งทวีความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิรัสเซียในสมัยซารีน่าแคทเทอรีนที่ 2 มหาราช มีการติดต่อกับนักคิดชาวยุโรปมากมาย ทำให้จักรวรรดิรัสเซียเป็นศูนย์รวมแห่งวิทยาการ และศิลปะล้ำสมัยมากมาย

        ในช่วงเวลาดังกล่าว แม้ว่าชนชั้นขุนนางและกษัตริย์ จะมีชีวิตแสนหรูหรา แต่ประชาชนชาวรัสเซียส่วนใหญ่ ยังคงอดอยากปากแห้งจากความยากจนอยู่ มีการแบ่งแยกชนชั้น และช่องว่างระหว่างกลุ่มคนอย่างชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มทาสและชาวนาที่มีชีวิตยากลำบาก ถูกเอารัด เอาเปรียบ รอเวลาแห่งการปฏิวัติเปรียบเสมือนไฟที่สุมเพื่อรอวันโหมกระหน่ำ โดยความคับแค้นของคนเหล่านี้ มักถูกถ่ายทอดผ่านบทกวี ก่อกำเนิดนักประพันธ์ชื่อดังมากมาย อาทิ ดัสตาเยฟสกี้และโกโกล ที่งานเขียนอันสะท้อนช่วงเวลาที่ยากลำบากของคนรัสเซียในช่วงเวลานั้นกลายเป็นผลงานอันโด่งดังในปัจจุบัน

        ไฟแห่งความโกรธแค้นได้เริ่มปะทุอย่างชัดเจนในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 เกิดกลุ่มกบฎที่ต้องการเรียกร้องความเท่าเทียมกัน เหตุการณ์บานปลายจนกระทั่งเกิดการปลงพระชนม์พระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 อันเป็นที่มาของวิหารหยดเลือด ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์จากพระราชโอรส

        เหตุการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย อันได้รับอิทธิพลจากแนวคิดการปฏิวัติในยุโรป ผู้นำที่มีบทบาทนำการปฏิวัติคือวลาดิเม่ียร์ เลนิน ที่ในท้ายที่สุด ความกดดันจากประชาชน ชาวนา ทาส และชนชั้นแรงงาน รวมตัวกันเพื่อล้มล้างราชวงศ์ ทำการปฏิวัติ ปลิดพระชนม์พระเจ้าซาร์ อันเป็นจุดจบของราชวงศ์โรมานอฟที่แสนน่าโศกเศร้า

        เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กกลายเป็นเมืองแห่งภาพความทรงจำของราชวงศ์โรมานอฟ เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยความไม่เสมอภาค ขัดต่อนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์ อีกทั้งยังง่ายต่อการรุกรานของศัตรูในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ดังนั้นไม่เพียงแต่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กที่เคยถูกเปลี่ยนชื่อจากภาษาเยอรมัน ให้กลายเป็นเปโตรกราด หรือเมืองของปีเตอร์ และย้ายเมืองหลวงกลับไปยังมอสโก ก่อนจะเปลี่ยนช่ือเมืองให้่เป็นเลนินกราด อันเป็นสัญลักษณ์ของผู้นำการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแบบสังคมนิยม

        เมืองเลนินกราด แม้ว่าจะถูกลดความสำคัญ ไม่ใช่เมืองหลวงอีกต่อไป แต่พรรคคอมมิวนิสต์ยังคงให้ความสำคัญกับเมืองแห่งนี้ มีการพัฒนาอุตสาหกรรม พัฒนาเศรษฐกิจจนรุ่งเรืองไม่แพ้กรุงมอสโก ทำให้เลนินกราดเป็นอีกเมืองสำคัญของสหภาพโซเวียต แม้แต่ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพนาซีเยอรมัน ก็หมายมั่นปั้นมือ ที่จะยึดเมืองแห่งนี้ เพื่อเป็นทางผ่านไปยังกรุงมอสโก เมืองเลนินกราดต้องเผชิญกับภัยสงครามร่วม 3 ปี สูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนในเมืองไป เป็นโศกนาฏกรรมที่ชาวเมืองยังสะเทือนใจจวบจนปัจจุบัน

        ภายหลังสหภาพโซเวียตได้ล่มสลาย เลนินกราดได้ถูกกลับมาใช้ชื่อเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กอีกครั้ง และกลายเป็นศูนย์กลางหรือเมืองหลวงทางด้านวัฒนธรรมของรัสเซีย พระราชวัง โบสถ์ และอนุสรณ์ต่างๆในสมัยจักรวรรดิถูกนำมาจับปัดฝุ่นใหม่อีกครั้ง รอรับนักท่องเที่ยวที่หลงไหลในความงดงามและประวัติศาสตร์ของจักรวรรดิรัสเซียตราบนานเท่านาน