ออโรรา: แสงสว่างแห่งขั้วโลก
ออโรรา (aurora) เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่มีแสงเรืองเกิดขึ้นบนท้องฟ้าในเวลากลางคืน โดยจะพบได้เฉพาะบริเวณใกล้ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ ถ้าปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นบริเวณใกล้ขั้วโลกเหนือ จะเรียกว่า “แสงเหนือ” (northern lights) หรือเรียกเป็นทางการว่า ออโรรา บอรีเอลิส (aurora borealis) แต่ถ้าเกิดใกล้ขั้วโลกใต้จะเรียกว่า “แสงใต้” (southern lights) หรือ ออโรรา ออสตราลิส (aurora australis) ส่วนคำว่า ออโรรา โพลาริส (aurora polaris) แปลว่า “แสงขั้วโลก” ใช้เรียกได้ทั้งแสงเหนือและแสงใต้
ปรากฏการณ์ออโรราเกิดจากอนุภาคพลังงานสูง ที่เกิดจากปรากฏการณ์บนดวงอาทิตย์เกิดการชนกันในชั้นบรรยากาศด้วยการเหนี่ยวนำของสนามแม่เหล็กโลก และในหลาย ๆ ครั้งจะถูกเหนี่ยวนำจากพายุสุริยะ ซึ่งมาจากดวงอาทิตย์ และในท้ายที่สุด จะคลายพลังงานออกมาในรูปแบบของแสง โดยมีสีสันสวยงามต่าง ๆ ส่วนใหญ่ที่พบได้จะมีสีเขียวหรือสีขาว อาจมีสีอื่นที่พบได้บ้าง เช่น สีแดง สีน้ำเงิน สีม่วง หรือสีเหลือง นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปชมแสงเหนือมากกว่าแสงใต้ เนื่องจากบริเวณขั้วโลกใต้ไม่มีดินแดนที่มีผู้คนอาศัยอยู่ ในขณะที่บริเวณขั้วโลกเหนือครอบคลุมพื้นที่หลายประเทศ ได้แก่ นอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ กรีนแลนด์ รัสเซีย แคนาดา และรัฐอลาสกาของสหรัฐอเมริกา ซึ่งสะดวกแก่การท่องเที่ยวมากกว่า นักท่องเที่ยวจึงนิยมไปชมความงดงามของแสงเหนือในช่วงปีนี้อย่างไม่ขาดสาย โดยในช่วงปี ค.ศ. 2013-2014
ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่นักท่องเที่ยวมีโอกาสได้ชมแสงออโรราที่งดงามที่สุด เนื่องจากตรงกับช่วงที่มีปรากฏการณ์เกิดขึ้นบนดวงอาทิตย์ เช่น เกิดจุดดับบนดวงอาทิตย์ หรือเกิดการประทุที่ดวงอาทิตย์ (solar flare) มากที่สุดในวัฏจักรสุริยะ (solar maximum) ที่จะมีวัฏจักรทุก ๆ 11 ปี และแสงออโรราเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดจากปรากฏการณ์ดังกล่าวของดวงอาทิตย์
นอกจากคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์แล้ว แสงออโรรายังส่งผลกระทบต่อความเชื่อและวัฒนธรรมของมนุษย์ในหลายพื้นที่ด้วยกัน บางวัฒนธรรมเชื่อว่า พระเจ้าได้จุดไฟขึ้นเพื่อให้ความสว่างและความอบอุ่นกับดินแดนทางเหนือที่หนาวเย็น ส่วนบางชนเผ่าเชื่อว่าแสงเหนือคือวิญญาณของบรรพบุรุษที่กลับมาปกปักรักษาผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่
รายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติม (เนื้อหาภาษาไทย): http://www.vcharkarn.com/varticle/38509 และ http://cherokee.exteen.com/20100205/entry
ภาพโดย ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา รอง ผอ.สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT)
เรียบเรียงโดย กองยุโรป 2 กรมยุโรป
No Comments