Enter your keyword

ซับซาน รถไฟความเร็วสูงรัสเซีย

ซับซาน รถไฟความเร็วสูงรัสเซีย

ระยะนี้บ้านเราพูดกันมากเรื่องรถไฟความเร็วสูง ก็เลยอยากเล่าเรื่องรถไฟความเร็วสูงของรัสเซียบ้าง

รัสเซียเป็นประเทศใหญ่โต ในทางภูมิศาสตร์แล้วก็ถือว่าเหมาะสำหรับการวางระบบรางรถไฟ ให้เป็นระบบคมนาคมขนส่งหลักของประเทศ และหลังจากใช้เวลาพิจารณาอยู่นานถึง 7 ปี ในปี 1842 พระเจ้าซาร์ นิโคลาสที่ 1 ก็ทรงดำริให้รัฐสร้างทางรถไฟสายแรกระหว่างเมืองหลวงในสมัยนั้นคือเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก กับกรุงเก่าอย่างมอสโก และนับตั้งแต่นั้นมา ระบบรถไฟของรัสเซียก็พัฒนาเรื่อยมา เร็วบ้างช้าบ้างตามสภาพ

สิ่งที่เรารู้จักกันมากที่สุดในเรื่องรถไฟรัสเซียก็เห็นจะเป็นทางรถไฟที่ยาวเหยียดที่สุดในโลกชื่อ ทรานส์ ไซบีเรีย ซึ่งวิ่งจากกรุงมอสโก ไปสิ้นสุดยังฝั่งตะวันออกไกลของประเทศ และมีเส้นที่แยกไปถึงจีนและเกาหลีเหนือ

และเมื่อมหาอำนาจทางด้านรถไฟของโลกอื่นๆ ก้าวไปอีกขั้น ด้วยการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง ในสายตาชาวโลก รัสเซียกลับเงียบฉี่มากในเรื่องนี้ จริงๆแล้ว รัสเซียก็พยายามพัฒนาเรื่องรถไฟความเร็วสูงกับเขาด้วยเช่นกัน แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเอาเสียเลย

ในระบบของรัสเซียนั้นถือกันว่า รถไฟที่สามารถวิ่งได้ 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมงหรือเร็วกว่า ถือว่าเป็นรถไฟความเร็ว แต่หากทำความเร็วได้ 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือเร็วกว่า บนรางปกติ หรือสูงกว่า 250 กิโล เมตรต่อชั่วโมง บนรางพิเศษ ถือว่าเป็นรถไฟความเร็วสูง

รัสเซียเริ่มวางระบบในการพัฒนาความเร็วของรถไฟมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1960 ยุคที่ยังเป็นสหภาพโซเวียต โดยในปี 1963 พวกเขาก็นำรถไฟที่มีความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมงออกให้บริการตามเส้นทาง มอสโก – เลนินกราด หรือที่ปัจจุบันก็คือเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก และต่อมาก็มีการศึกษาเรื่องรถไฟติดเครื่องไอพ่นด้วย แต่โครงการคงไม่ประสบความสำเร็จ ก็เลยพับไป

ในปี 1973 พวกเขาก็เริ่มสร้างรถไฟรุ่น แอร 200 ซึ่งสามารถทำความเร็วได้ถึง 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เข้าขั้นรถไฟความเร็วสูง แต่การที่มันถูกนำออกมาให้บริการในปี 1984 ทำให้พอถึงตอนนั้น เทคโนโลยีของมันก็เก่ามากแล้ว เทียบกับรถไฟของต่างประเทศไม่ได้  ขณะที่ในส่วนของรางพิเศษสำหรับรถไฟความเร็ว และรถไฟความเร็วสูง ที่สามารถทำให้ความเร็วของรถไฟเพิ่มขึ้นได้ ก็ยังไม่ได้มีการลงมือทำอะไรทั้งสิ้น แม้ทางการจะคิดเรื่องนี้กันมาตั้งแต่ยุคทศวรรษที่ 1960

พอถึงปี 2000 รัสเซียก็เข็นโครงการรถไฟ “ โซโคล 250 “ ออกมาหลังมีการคิดค้นกันอยู่นานเป็นสิบปี  รถไฟรุ่นนี้ สามารถทำความเร็วได้ถึง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ปัญหาทางเทคนิคหลากหลายประการ รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองช่วงนั้น ก็เลยทำให้โครงการนี้ต้องพับไป หลังสร้างรถไฟออกมาเพื่อใช้ทดสอบจำนวน 1 ขบวน

และเมื่อไม่ประสบความสำเร็จในการพัฒนารถไฟความเร็วสูงของตัวเอง บวกกับการหมดยุคของการโชว์ พาว ประเทศที่เคยต้องการเป็นมหาอำนาจในทุกๆเรื่อง ตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ ประเทศที่ในอดีต แทบสร้างทุกอย่างด้วยตัวเอง แม้กระทั่งน็อตทุกตัวก็ยังต้องเมดอินรัสเซียเท่านั้น ก็ตัดสินใจ” ซื้อ”รถไฟความเร็วสูงของฝรั่งต่างชาติมาใช้ เพื่อทดแทนรถไฟ แอร 200 ที่ใช้อยู่ และนอกจากจะซื้อรถไฟความเร็วสูงของฝรั่งต่างชาติแล้ว รัสเซียก็มีแผนจะซื้อรถไฟความเร็วจากสเปนมาใช้ด้วย

และตั้งแต่ปี 2010 รัสเซียก็กำลังก่อสร้างรางพิเศษสำหรับรถไฟความเร็วสูงโดยเฉพาะเส้นแรก ระหว่างมอสโกกับเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งตามแผนจะสามารถใช้ได้ในปี 2017 และสำหรับรางนั้น ประเทศก็ไม่ได้ทำเองอีก แต่สั่งซื้อมาจากญี่ปุ่น
เรียกได้ว่างานนี้หมดท่าเลยจริงๆ

ในส่วนของตัวรถไฟความเร็วสูง รัสเซียตัดสินใจซื้อของบริษัท Siemens AG จากเยอรมนีมาใช้ โดยเลือกเอารถไฟตระกูล Siemens Velaro มาพัฒนาสำหรับรัสเซียโดยเฉพาะ จนได้เป็นรุ่นที่มีชื่อว่า Velaro RUS  ซึ่งปัจจุบันมีการผลิตรถไฟรุ่นนี้ออกมา 8 ขบวนด้วยกัน ( รถไฟตระกูล Siemens  Velaro โดยรวม มีการผลิตออกมาราว 100 ขบวน  ) และเมื่อมาถึงรัสเซีย มีการเรียกระบบรถไฟความเร็วสูงของประเทศว่า ซับซาน ที่แปลได้ว่าเหยี่ยวเพเรกริน

งานนี้รัสเซียหมดเงินไป 276 ล้านยูโร นอกจากนั้น  Siemens AG ก็ยังได้รับสัมปทานในการซ่อมบำรุงรถไฟเป็นเวลา 30 ปี หรือรวมระยะวิ่งไม่น้อยกว่า 14 ล้านกิโลเมตร รวมมูลค่าอีก 354 ล้านยูโร

โครงการซับซาน เกิดขึ้นในยุคที่วลาดิมีร์ ปูติน เป็นผู้นำช่วงแรก โดยมีการลงนามทำสัญญากันเมื่อปี 2005 ซึ่งในช่วงเริ่มต้น โครงการซับซานใหญ่กว่าปัจจุบันมาก ในช่วงนั้นโครงการเป็นเรื่องของการร่วมกันพัฒนารถไฟความเร็วสูง ที่มีความเร็วถึง 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จำนวนมากถึง 60 ขบวน โดย 2 ประเทศจะตั้งบริษัทร่วมลงทุน และรถไฟเหล่านี้จะผลิตจากโรงงานที่ตั้งในรัสเซีย โดยมูลค่าของโครงการประเมินไว้ว่าน่าจะอยู่ที่ 1,500 ล้านยูโร

แต่ไปๆมาๆ สุดท้ายแล้วในปี 2006 จาก 60 ขบวน ก็ถูกลดลงเหลือแค่ 8 ขบวน และเรื่องการนำรถไฟมาผลิตที่รัสเซียก็ไม่ได้ถูกพูดถึงอีกเลย สำหรับความเร็วรถ ก็ขอสูงสุดแค่ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็พอ ( แต่สามารถพัฒนาให้เร็วได้ถึง 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ )

สำหรับเรื่องรางนั้น ซับซานยังใช้ระบบรางเดียวกับที่รถไฟธรรมดาของรัสเซียใช้อยู่อีก จนกว่าระบบรางพิเศษสายแรก จะแล้วเสร็จตามโครงการในปี 2017

ซับซานเพิ่งเริ่มออกให้บริการครั้งแรกเมื่อปลายปี 2009 นี่เอง เริ่มจากเส้นทางระหว่างมอสโกกับเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก ระยะทางประมาณ 800 กิโลเมตร ซึ่งมีรายงานว่าช่วง 6 เดือนแรก ธุรกิจไปได้สวย โดยเฉลี่ยแต่ละเที่ยวมีคนมาใช้บริการ 84 เปอร์เซนต์

พอถึงปลายปี 2010 รัสเซียก็เปิดเส้นทางบริการรถไฟความเร็วสูงสายที่ 2 วิ่งระหว่างมอสโก กับเมืองนิชนึย นอฟโกรัด ซึ่งห่างจากมอสโกไปทางตะวันออกราว 400 กิโลเมตร ในเส้นทางนี้มีรายงานว่าช่วงที่ออกให้บริการเดือนแรก ขาดทุนยับเยิน เพราะทั้งเดือน มีคนซื้อตั๋วแค่ 800 ใบ ขณะที่รถสามารถให้บริการเที่ยวละ 538 เที่ยว

ซับซานที่รัสเซียซื้อมานั้นมีทั้งระบบที่ใช้ไฟฟ้ากระแสตรง และระบบที่ใช้ได้กับไฟฟ้าทั้งกระแสลับและกระแสตรง และแต่ละขบวนจะมี 10 ตู้ แต่ละขบวนสามารถให้บริการผู้โดยสารได้สูงสุด 604 คน

สำหรับแผนการพัฒนาในระยะใกล้ตอนนี้ก็คือการขยายเส้นทางไปยังเมืองคาซาน , ยาโรสลาฟว์ รวมถึงเมื่ออื่นๆอย่าง ซามาร่า , โซชิ และคูร์สค  และมีโอกาสที่อาจจะเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน และล่าสุดแว่วว่ารัสเซียมีแผนจะเพิ่มความเร็วของเจ้าซับซาน

ที่มา: http://www.oknation.net/blog/print.php?id=862531

No Comments

Post a Comment