Kaliningrad คาลินินกราด
แคว้นคาลินินกราด เขตปกครองทางตะวันตกสุดของรัสเซีย หากแต่ไม่ได้อยู่ติดกับแผ่นดินส่วนอื่นของรัสเซียเพราะถูกคั่นด้วยลิทัวเนีย ลัตเวีย และเบลารุส ในขณะที่ฝั่งใต้ติดกับโปแลนด์ และตะวันตกอยู่ติดกับทะเลบอลติก กล่าวคือ คาลินินกราดเป็นประเทศรัสเซียที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตสหภาพยุโรป (EU) ด้วยเหตุนี้จึงมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ เนื่องจากเป็นทางออกสู่ทะเลที่สำคัญของรัสเซีย มีระยะห่างจากเมืองหลวงอย่างกรุงมอสโก 1,289 กิโลเมตร
คาลินินกราดมีพื้นที่ทางธรรมชาติที่สมบูรณ์ เป็นเขตป่าไม้แบบผสมและผลัดใบสลับกับหนองน้ำ พื้นที่โดยรวม 15,100 ตารางกิโลเมตร สถิติของประชากรในปี ค.ศ. 2021 คือราว 1 ล้านคน ที่นี่มีภูมิอากาศแบบภาคพื้นทวีป โดยมีอุณหภูมิประมาณ 6.2-7.6 องศาเซลเซียสในช่วงฤดูร้อนและฤดูใบไม้ผลิ ส่วนในฤดูหนาวจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 3 องศาเซลเซียส นับได้ว่าเป็นเมืองที่อากาศอบอุ่น เฉกเช่นเมืองต่างๆในยุโรป
เขตปกครองรัสเซียที่อยู่นอกรัสเซีย
สาเหตุที่คาลินินกราดเป็นเขตการปกครองของรัสเซียแต่ไม่มีพื้นที่ติดกับประเทศรัสเซียเลย เนื่องจากดินแดนนี้เคยอยู่ภายใต้ปรัสเซียและโปแลนด์ แต่ด้วยความพ่ายแพ้ของนาซีเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ 2 (ในปี ค.ศ.1945) ดินแดนแห่งนี้จึงถูกผนวกเข้ากับสหภาพโซเวียต และมีการอพยพของประชากรเกิดขึ้น ประชากรชาวเยอรมันที่เหลืออยู่ถูกขับไล่ และพลเมืองโซเวียตเข้ามาทดแทน ดินแดนแห่งนี้จึงเต็มไปด้วยพลเมืองโซเวียตเชื้อสายรัสเซียเป็นหลัก
การเปลี่ยนเยอรมันสู่รัสเซีย
เคอนิกส์เบิร์ก (Königsberg) ชื่อเมืองเดิมถูกแทนที่ด้วยคาลินินกราด ถูกตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1946 เพื่อเป็นเกียรติแก่ประธานรัฐสภาสูงสุดของสหภาพโซเวียต คือ นายมิคาอิล คาลินิน (Mikhail Kalinin) เดิมทีคาลินินกราดถูกเสนอยกให้เป็นส่วนหนึ่งของลิทัวเนีย เนื่องจากมติจากการประชุมระบุว่าพรมแดนของคาลินินกราดจะอยู่ที่ชายแดนลิทัวเนีย (ก่อนสงคราม) แต่ภูมิภาคนี้เป็นยุทธศาสตร์สำคัญเกินกว่าที่สหภาพโซเวียตจะปล่อยให้อยู่ภายใต้รัฐอื่นที่ไม่ใช่ของตน ชื่อเมือง เมือง แม่น้ำ และลักษณะทางภูมิศาสตร์อื่นๆ จึงถูกเปลี่ยนเป็นชื่อรัสเซียทั้งหมด
คาลินินกราดกับการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ปี ค.ศ. 1989 เอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนีย ซึ่งมีพื้นที่ใกล้กับคาลินินกราดได้ประกาศอิสรภาพแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต ทำให้คาลินินกราดกลายเป็นพื้นที่ของรัสเซียเพียงแห่งเดียวที่ตั้งอยู่ในยุโรป อีกทั้งการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ. 1991 ทำให้ความโดดเดี่ยวของคาลินินกราดรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเมื่อโปแลนด์และลิทัวเนีย ประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบเข้าเป็นสมาชิกของนาโต้และสหภาพยุโรป ได้กำหนดการควบคุมชายแดนอย่างเข้มงวด ส่งผลให้ประชาชนในคาลินินกราดเดินทางไปรัสเซียได้เพียงทางอากาศเท่านั้น รวมถึงกองทัพไม่สามารถเคลื่อนย้ายทางบกได้อีกต่อไป
คาลินินกราดในปัจจุบัน
มรดกทางวัฒนธรรมบางส่วน โดยเฉพาะอาสนวิหารเคอนิกส์เบิร์กได้รับการบูรณะในช่วงทศวรรษที่ 1990 และมีการยอมรับชาวเยอรมัน โปแลนด์ และชาติพันธุ์อื่นๆ ที่สามารถสื่อสารภาษารัสเซียได้เข้ามาอาศัยอยู่ที่นี่
คาลินินกราด จึงเปรียบเสมือนเมืองแห่งความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ แม้อาจมีขั้วการเมืองและความเชื่อที่ต่างกัน แต่สำหรับคาลินินกราดนั้น ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติและสงบสุข
สถานที่ท่องเที่ยวของคาลินินกราด
เกาะคานต์ (Kant’s Island)
บุคคลสำคัญแห่งคาลินินกราด (เดิมชื่อเคอนิกส์เบิร์ก) คือ อิมมานูเอล คานต์ นักปรัชญาชาวเยอรมันในศตวรรษที่ 18 และเป็นหนึ่งในนักคิดที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ปรัชญา เขาเกิดที่เมืองเคอนิกส์เบิร์กในปรัสเซีย อาศัยและเสียชีวิตที่นี่ สุสานของเขาอยู่ในอาสนวิหารเคอนิกส์เบิร์กอาสนวิหารคาลินินกราดหรืออาสนวิหารเคอนิกส์เบิร์ก (The Kaliningrad Cathedral or Königsberg Cathedral ) อาสนวิหารตั้งอยู่บนเกาะคานต์ ก่อตั้งขึ้นในศตวรรษที่ 14 ภายใต้การอุปถัมภ์ของรัฐอัศวินทิวทัน และปัจจุบันนี้เป็นสถาปัตยกรรมรูปแบบโกธิคที่หาได้ยากในรัสเซีย
ในปี ค.ศ. 1944 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อาสนวิหารถูกทำลายเกือบทั้งหมด มีเพียงกำแพงของมันเท่านั้นที่ยังคงตั้งตระหง่านอยู่ การบูรณะอาคารเริ่มขึ้นในปี ค.ศ.1992 ปัจจุบัน อาสนวิหารถูกปรับให้เป็นพิพิธภัณฑ์ เพื่อจัดแสดงให้กับนักท่องเที่ยวได้เข้าชมความยิ่งใหญ่ของอาสนวิหารแห่งนี้
พิพิธภัณฑ์อำพัน (Museum of Amber)
ทะเลบอลติกมีชื่อเสียงในด้านอำพัน ภายในพิพิธภัณฑ์อำพันมีการจัดแสดงชิ้นส่วนอำพันจากธรรมชาติที่สวยงามซึ่งมีฟอสซิลหลากหลายชนิด ประติมากรรมอำพัน และประวัติการแปรรูปอำพันในสหภาพโซเวียต
ประตูเมืองรอสการเตน (Rossgarten Gate) ประตูเมืองแห่งนี้เป็นหนึ่งใน 7 ประตูเมืองที่เหลืออยู่ของเคอนิกส์เบิร์ก ถูกสร้างขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ประตูประดับด้วยเหรียญตราที่มีรูปนายพลชาวปรัสเซีย ซึ่งปัจจุบันเป็นแห่งท่องเที่ยวอีกแห่งที่เป็นที่นิยม
จัตุรัสแห่งชัยชนะและมหาวิหารแห่งพระคริสต์ผู้ช่วยให้รอด (Victory Square and Cathedral of Christ the Saviour)
จตุรัสแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะของสงครามโลกครั้งที่ 2 อาคารโดยรอบเป็นแบบดั้งเดิมสไตล์เยอรมันในศตวรรษที่ 20 ที่ไม่ถูกทำลายในช่วงสงคราม
มหาวิหารแห่งพระคริสต์พระผู้ช่วยให้รอด ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 2005 ในรูปแบบของรัสเซียนออธอดอกซ์ และยังเป็นที่ตั้งของสวนสาธารณะที่มีอนุสาวรีย์แห่งมาตุภูมิ จัตุรัสแห่งนี้เป็นศูนย์กลางเมืองและจุดนัดพบสำหรับคนในท้องถิ่น รวมถึงเป็นศูนย์กลางการขนส่งสาธารณะของเมืองอีกด้วย
เซ็นทรัลมาร์เก็ต (Central Market)
ตลาดแห่งนี้ตั้งอยู่ไม่ไกลจากจตุรัสแห่งชัยชนะ ซึ่งเป็นเครื่องย้อนเวลาพานักท่องเที่ยวย้อนกลับไปสู่อดีตของสหภาพโซเวียต ด้วยผลไม้กองโตและเนื้อหั่นชิ้นใหญ่ ซึ่งอาจจะดูแตกต่างจากตลาดดั้งเดิมของเมืองปรัสเซียนทั่วไป อย่างไรก็ตามการผสมผสานของวัฒนธรรมและความแตกต่างคือเสน่ห์ของคาลินินกราด