18 ปีของรัสเซีย กับวลาดิมีร์ ปูติน
การเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียรอบใหม่ในวันที่ 18 มีนาคม ปี ค.ศ. 2018 ที่กำลังใกล้เข้ามานี้ แน่นอนว่าสำหรับคนไทยและคนส่วนใหญ่ทั่วโลกอาจไม่ได้ให้ความสำคัญนักแต่การเลือกตั้งครั้งนี้มีผลอย่างมากต่อการเมืองโลกในอนาคต
ทั้งนี้เพราะเป็นการเลือกตั้งอีกครั้ง ที่ประธานาธิบดี ปูติน จะมีโอกาสชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัย แต่การชิงชัยครั้งนี้คือจุดเปลี่ยนภายในสังคมรัสเซียและดุลอำนาจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นหมายความว่าประชาชนคนไทยก็ได้ผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ด้วย วันนี้ผู้อ่านอาจจะมองเป็นเรื่องไกลตัวแต่ในภายภาคหน้าเมื่อท่านย้อนกลับมาอ่านบทความนี้อีกครั้งท่านจะเข้าใจว่าสิ่งที่ท่านอ่านวันนี้นั้นไม่ได้ทำให้ท่านเสียเวลาเปล่าเลย
รัสเซียก่อนปูติน
การล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ. 1991 นั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่ามหาอำนาจคอมมิวนิสต์ที่ยิ่งใหญ่จะถึงจุดอวสาน แม้แต่คนรัสเซียในปัจจุบันที่เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ก็ยังรับไม่ได้และไม่เชื่อว่ามันเกิดขึ้นจริง หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต รัสเซียคือพี่ใหญ่ผู้สืบสิทธ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สิทธิทางการเมืองโลก ในฐานะสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ ผู้มีสิทธิตัดสินใจคัดค้านหรือก่อให้เกิดสงครามใดในโลกนี้ได้ทุกเมื่อ หรือแม้แต่การเป็นผู้ทรงสิทธิทางการทหารและอาวุธนิวเคลียร์ที่มากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก รวมไปถึงการครอบครองดินแดนที่กว้างใหญ่ที่สุดในโลกที่มีเนื้อที่กว่า 17 ล้านตารางกิโลเมตรอีกด้วย
อันที่จริงแล้วทุกอย่างก็ดูสวยงามและยิ่งใหญ่ตามฉบับรัสเซีย แต่ความเป็นจริงแล้วมรดกที่รัสเซียได้รับนั้นถ้าจะมองกันจริงๆแล้วคือมรดกกรรมที่หนักมาก จนมีการพูดแซวกันในช่วงนั้นว่าเกิดและตายเป็นคนรัสเซียสักสิบชาติก็ไม่รู้จะใช้กรรมหมดเมื่อไหร่ ที่เป็นเช่นนี้เพราะรัสเซียในวันแรกที่โซเวียตล่มสลายนั้น เต็มไปด้วยความสับสนอลหม่าน ผู้คนไม่รู้จะทำตัวอย่างไร อาหารก็ขาดแคลนอย่างหนัก เป็นช่วงเวลาที่เงินไม่มีความหมายใดๆ ตามห้างร้านทั่วไปคนก็ต่อแถวกันยาวเหยียด เมื่อเดินเข้าไปในร้านก็เจอแต่ขวดเกลือกับมันฝรั่งเท่านั้น ปัญหาเหล่านี้ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลของประธานาธิบดีคนแรกของรัสซียนามว่า บอริส เยลต์ซินต้องแก้ไข
การเข้ามามีอำนาจของประธานาธิบดีเยลต์ซินนั้นเต็มไปด้วยการต่อสู้และดวงที่เฮงของเขาไปพร้อมๆกัน เพราะความใจกล้าบ้าบิ่นของเขาที่ต่อต้านรัฐบาลของสหภาพโซเวียตขณะนั้น
ทำให้เขาได้รับความนิยมอย่างมากจากฝูงชน แต่พอสหภาพโซเวียตล่มสลายและกลายเป็นประเทศรัสเซียในเวลาต่อมา ประธานนาธิบดี ผู้จบการศึกษาด้านวิศวกรรรมศาสตร์อย่างเขาแทบคิดไม่ออกเลยว่าจะแก้ปัญหาที่หนักอึ้งของประเทศอย่างไร และนี่คือสิ่งที่เขาต้องแบกรับไว้เพื่อนำพาประเทศชาติให้รอดพ้นจากอาการโคม่านี้ให้ได้ สิ่งที่เขาทำได้ขณะนั้นคือการมอบความไว้วางใจต่อทีมเศรษฐกิจที่เขาให้อำนาจบริหารเต็มที่ และนี่คือปฐมบทแห่งความเจ็บปวดที่คนรัสเซียได้รับใน ช่วง ทศวรรษที่ 90 ซึ่งได้แก่ การลดค่าเงินสกุลรูเบิ้ล การแปรรูปสินทรัพย์ของรัฐให้กลับสู่มือประชาชน
อันที่จริงแล้วนโยบายเหล่านี้มีเจตนาดีที่ต้องการให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมและประชนอยู่ดีกินดีขึ้น แต่ในทางปฏิบัติแล้ว นโยบายดังกล่าวกลับกลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มอำนาจและข้าราชการบางกลุ่มที่สร้างความร่ำรวยเพียงชั่วข้ามคืนจนกลายเป็นกลุ่มมหาเศรษฐีหน้าใหม่ หรือที่คนรัสเซีย เรียกว่า โนวึย รุสกี้ ผู้ซึ่ง มั่งคั่งจากการเอาเปรียบคนรัสเซียด้วยกันผ่านมาตรการทางเศรษฐกิจของรัฐบาลนั่นเอง
วิกฤตการณ์เศรษฐกิจของรัสเซียได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงการเมืองภายในด้วยจนนำไปสู่ วิกฤตการณ์รัฐธรรมนูญในปี ค.ศ. 1993 ที่มีความต้องการถอดถอนเยลต์ซินออกจากตำแหน่ง แต่จนแล้วจนรอดเยลต์ซินก็สามารถรักษาตัวรอดผ่านมันไปได้ ในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ทำให้เยลต์ซินเองก็ไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่อยู่ในสภาวะล่มสลายนั้นยากลำบากเหลือเกิน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้รัสเซียในช่วงนี้จำใจต้องเข้าหาชาติตะวันตกเพื่อขอความช่วยเหลือ รัสเซียจำต้องดำเนินการทุกอย่างตามที่สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรเป็นผู้กำหนด เพราะพวกเขาเหล่านี้เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่รัสเซีย
นอกจากนี้ในช่วงเวลาดังกล่าว ได้มีสงครามย่อยๆเกิดขึ้นหลายแห่งซึ่งรวมไปถึงเหตุการณ์ในโคโซโวซึ่งรัสเซียถือว่าเป็นพี่น้องสายเลือดสลาฟที่รัสเซียรักและช่วยเหลือมาโดยตลอด อย่างไรก็ตามด้วยสภาพของตนเองที่ย่ำแย่ขณะนั้นรัสเซียก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ที่ทำได้ก็ได้แต่นั่งมองตาละห้อยและปล่อยให้สหรัฐบรรเลงสงครามจนจบและถือเป็นบาดแผลที่หมิ่นเกียรติของรัสเซียเสมอมา
จนต่อมาเกิดเหตุการณ์ภายในประเทศที่ระส่ำระสายรัสเซียอีกครั้ง นั่นคือสงครามเชชเนียทั้งสองครั้ง ในปี ค.ศ. 1997 และ ค.ศ. 1998 สงครามดังกล่าวเป็นสงครามที่ชาวเชเชนในสาธารณะเชชเนียต้องการแยกตัวออกเป็นเอกราช สงครามนี้จึงเป็นตัวชีวัดความเป็นปึกแผ่นของรัสเซียเลยทีเดียว ทั้งนี้เพราะถ้าเชชเนียสามารถประกาศเอกราชเป็นประเทศอิสระได้สำเร็จ นั่นหมายความว่าสาธารณรัฐปกครองตนเองที่เหลืออีก 24 แห่งของรัสเซียก็พร้อมที่จะแยกตัวตามด้วย และถ้าเกิดขึ้นจริงเมื่อนั้นรัสเซียคงถึงกาลอวสาน.
ตลอดเวลาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1991-1999 บอริส เยลต์ซินไม่เคยนอนหลับสนิทเพราะในใจเขามีอยู่สองเรื่องที่กังวลคือ จะทำอย่างไรให้รัสเซียดีขึ้นตามที่สัญญากับประชาชนชาวรัสเซียไว้ และเรื่องที่สองคือควรให้ใครสืบทอดอำนาจต่อจากตนดี เพื่อที่ว่าเขาผู้นั้นจะรับประกันความปลอดภัยและไม่หักหลังและเช็คบิลเยลต์ซินย้อนหลัง
ดังนั้นในยุคของประธานาธิบดีเยลต์ซินนั้น มีการเปลี่ยนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึง 7 คนด้วยกันทั้งนี้เพื่อเป็นการคัดกรองและค้นหาบุรุษในตำนานผู้หนึ่งผู้ซึ่งจะมาแก้ปัญหาคาใจของเยลต์ซินได้ และท้ายที่สุดหวยก็มาจบลงที่นายกรัฐมนตรีคนสุดท้ายของประธานาธิบดีเยลต์ซิน คือ นายวลาดิมีร์ ปูติน เด็กหนุ่มหน้าใหม่ใจสะอาดจากเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กผู้ที่ได้คำชื่นชมอย่างหนาหูว่ามีความซื่อสัตย์และสำนึกในบุญคุณคนอย่างมาก
เมื่อปูตินได้เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขาก็ได้แสดงบทบาทอย่างเต็มที่ในการปราบปรามกบฎเชเชน จนได้รับชัยชนะเด็ดขาด ซึ่งผลจากเหตุการณ์นี้ทำให้เขาได้รับคะแนนนิยมที่สูงขึ้นมาก ประกอบกับความไว้เนื้อเชื่อใจที่เยลต์ซินมอบให้ปูติน ท้ายที่สุดเยลต์ซินจึงตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่าทายาททางการเมืองที่ต้องรับภาระดูแลรัสเซียต่อจากของเขาคือ นายวลาดิมีร์ ปูตินนั่นเอง เพื่อให้การเริ่มต้นเป็นประธานาธิบดีของปูตินเป็นไปด้วยความราบรื่น เยลต์ซินจึงปูทางโดยการชิงลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีของตนเองก่อนหมดวาระเพียงไม่ถึง 1 ปี กล่าวคือเยลต์ซินลาออกในปี ค.ศ. 1999 ซึ่งผลของการลาออกของเยลต์ซินครั้งนี้ได้ทำให้ปูตินได้ขึ้นเป็นรักษาการประธานาธิบดีรัสเซียอย่างอัติโนมัติตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ ซึ่งในช่วงของการดำรงตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดีนั้น ปูตินและเยลต์ซินได้ทำงานหนักมากเพื่อให้แผนการที่วางไว้ประสบความสำเร็จ และท้ายที่สุดความฝันของเยลต์ซินก็เป็นจริงเมื่อปูตินได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งและได้เป็นประธานาธิบดีคนที่สองของรัสเซียใน ปี ค.ศ. 2000
ประธานาธิบดีปูตินสมัยที่ 1
การก้าวขึ้นมามีอำนาจของปูตินนั้นแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ทั้งนี้เพราะเขายังเป็นคนหนุ่มที่มีประสบการณ์ไม่มากนัก ประกอบกับในช่วงนั้นกลุ่มอำนาจทางการเมืองเดิมที่ใกล้ชิดเยลต์ซินก็ยังมีอิทธิพลอยู่มากต่อการบริหารประเทศ เพราะฉะนั้นในช่วงยุคสมัยแรก ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 -2004 นั้น ปูตินมีความอ่อนน้อม และรอมชอมอย่างมากกับกลุ่มการเมืองต่างๆในประเทศ โดยเขาเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยค่อยๆปรับนโยบายให้ทันสมัยมากขึ้น และหันหน้าเข้าหาประเทศต่างๆเพื่อยกระดับประเทศรัสเซียให้ดีขึ้น นอกจากนี้สัญญาณที่ดีเริ่มเกิดขึ้นเพราะในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกดีดตัวสูงมาก และนี่ก็ถือได้ว่าเป็นบุญเก่าของรัสเซียและเป็นความโชคดีของปูติน ทั้งหมดนี้จึงทำให้เศรษฐกิจของรัสเซียเข้มแข็งขึ้นมากจนประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้นมหาศาลและสามารถทยอยปลดหนี้ต่างประเทศและซื้อทองคำสำรองเข้าคลังได้เพิ่มขึ้น อันที่จริงแล้วท่าทีของปูตินในสมัยแรกของการเป็นประธานาธิบดีนั้น ไม่ได้สะท้อนถึงความอ่อนแอแต่อย่างใด แต่นั่นคือการวางแผนและอดทนรอคอยอย่างแยบยลของ อดีตสายลับ เคจีบีรัสเซียผู้นี้ ผู้ซึ่งรู้ดีว่าสถานการณ์ ณ ขณะนั้นเขาไม่สามารถดำเนินการอะไรได้มากนักและทำได้เพียงพยุงสถานการณ์และรอคอยเวลาเท่านั้น ในช่วงดังกล่าวโดยรวมแล้วเศรษฐกิจของรัสเซียดีขึ้นมากและประชาชนก็ให้ความไว้วางใจปูตินมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เขาได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีและได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีรัสเซียอีกครั้งในสมัยที่ 2
ประธานาธิบดีปูตินสมัยที่ 2
ชัยชนะของปูตินในครั้งที่ 2 นี้สร้างความเชื่อมั่นให้กับปูตินมากขึ้นแบบไม่เคยปรากฎมาก่อน ประกอบกับกระแสความนิยมของเขาก็ค่อยเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งกลุ่มอำนาจเก่าของประธานาธิบดีเยลต์ซินก็ค่อยๆ ล้มหายตายจากและหมดวาระการทำงานลงไปเรื่อยๆ ดังนั้นในสมัยนี้ถือได้ว่าเป็นยุคที่ปูตินสามารถแสดงความเป็นตัวเองออกมาได้ชัดเจนและสามารถดำเนินการภารกิจใดๆได้อย่างเป็นอิสระมากขึ้น ส่วนราคาน้ำมันในตลาดโลกก็ยังคงพุ่งทะยานอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เศรษฐกิจรัสเซียร้อนแรงและได้รับความสนใจอย่างมากจากทั่วโลก ในด้านการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศนั้น ในยุคนี้ปูตินได้มีการปรับแก้กฏหมายข้อบังคับต่างๆให้สะดวกต่อการใช้ชีวิตและดำเนินธุรกิจมากขึ้น มีการส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดย่อมรายใหม่มากมาย ในด้านการต่างประเทศนั้นถือได้ว่าเป็นยุคทองทางการทูตของปูตินเลยทีเดียว เพราะปูตินเดินสายพบผู้นำและเข้าร่วมการประชุมต่างๆทั่วโลกและเริ่มแสดงจุดยืนที่ชัดเจนของรัสเซียในฐานะมหาอำนาจที่ฟื้นคืนชีพขึ้นมาเพื่อต่อกร กับสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตกอีกครั้ง
ปรากฎการณ์ปูตินฟีเวอร์ครั้งนี้
ในมุมหนึ่งทำให้คนรัสเซียมีความศรัทธาและเชื่อมั่นปูตินอย่างมาก แต่ในทางกลับกัน พฤตกรรมที่แข็งกร้าวและการปฏิรูปของปูติน ได้ส่งผลกระทบต่อกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยและต้องการให้ปูตินสิ้นอำนาจวาสนากันไป ว่ากันว่าในช่วงนี้มีกลุ่มนายทุนรัสเซียบางกลุ่มร่วมกันลงขันเพื่อทำอย่างไรก็ได้ที่จะไม่ให้ปูตินได้มีอำนาจและหมดความชอบธรรมในการเป็นประธานาธิบดีรัสเซีย อย่างไรก็ตามแผนการดังกล่าวก็ไม่ได้เกิดขึ้น เพราะดังที่ผู้เขียนได้เกริ่นไว้แต่ต้นแล้วว่า ประธานาธิบดีอดีตสายลับเคจีบี ผู้เชี่ยวชาญด้านข่าวกรองที่เก่งที่สุดคนหนึ่งอย่างปูตินทราบความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านตนเป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้ปูตินจึงไม่รอช้าด้วยการตัดไฟแต่ต้นลม โดยการใช้อำนาจและกฎหมายที่มีอยู่ในมือดำเนินการกับกลุ่มนายทุนผู้ไม่หวังดีดังกล่าวจนทำให้ต้องวงแตกแยกย้ายอพยพไปอยู่ต่างประเทศกันหมด บางรายก็ติดคุกเป็น 10 ปี ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ นาย มิคาอิล คอร์ดอคอฟสกี้ เจ้าของบริษัทน้ำมัน ยูคอส รายนี้ก็โดนข้อหาหลีกเลี่ยงภาษีของรัฐ ซึ่งผลการตรวจสอบก็พบความผิดจริงจนทำให้บริษัทนี้ต้องล้มละลายและถูกยึดคืนเป็นของรัฐ ส่วนตัวเจ้าของบริษัทนั้นก็ทำผิดคดีอาญาเข้าคุกตามระเบียบ เหตุการณ์นี้ได้สะท้อนความฉลาดของปูตินอีกระลอกหนึ่ง กล่าวคือเขาสามารถพลิกเหตุการณ์นี้จากการถูกโจมตีว่าใช้อำนาจเกินขอบเขต โดยชี้ให้เห็นว่าเป็นการทวงคืนสมบัติชาติจากนายทุนขี้โกงให้กลับเข้าสู่รัฐ ซึ่งผลก็คือถูกใจประชาชนรัสเซียส่วนใหญ่เป็นอย่างมาก ทั้งนี้เพราะประชาชนรัสเซียมองว่านายทุนเหล่านี้คือพวกฉวยโอกาสเอาเปรียบตนในช่วงที่สหภาพโซเวียตล่มสลาย ท้ายที่สุดหมากเกมส์นี้ ปูตินยิงปืนนัดเดียวแต่ได้นกถึงสองตัว คือสามารถกำจัดผู้ไม่หวังดีได้และขณะเดียวกันก็ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในฐานะผู้ทวงคืนสมบัติชาติ ดังนั้นในยุคนี้ปูตินจึงได้รับความนิยมสูงสุดและเขาได้อยู่ในอำนาจจนครบวาระต่อเนื่องตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004-2008
ปูตินในฐานะนายกรัฐมนตรี
ก่อนหมดวาระที่ 2 ของตำแหน่งประธานาธิบดี ปูตินและทีมงานทราบดีแล้วว่าตามรัฐธรรมนูญรัสเซียว่าด้วยการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น ได้กำหนดไว้ว่าประธานาธิบดีรัสเซียสามารถดำรงตำแหน่งได้วาระละ 4 ปี โดยสามารถเป็นประธานาธิบดีต่อเนื่องกันได้ไม่เกิน 2 วาระ นั่นหมายความว่าสามารถเป็นประธานาธิบดีกี่สมัยก็ได้แต่ต้องห้ามติดต่อกันเมื่อครบ 2 วาระ (กล่าวคือต้องเว้นวรรค 1 วาระ) เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ปูตินทราบแล้วว่าในสมัยหน้าตัวเองจะไม่สามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ อย่างไรก็ตามเมื่อความนิยมต่อตัวเขายังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เครือข่ายอำนาจของปูตินก็สนับสนุนเขาเต็มที่ และที่สำคัญคือฝันร้ายและความเจ็บปวดในอดีตที่ปูตินได้เห็นและสัมผัสการล่มสลายของโซเวียตเมื่อตอนที่เขายังดำรงตำแหน่งเป็นสายลับเคจีบีในเยอรมันตะวันออกยังตามมาหลอกหลอนปูตินอยู่
ปูตินจึงตัดสินใจที่จะนำพาประเทศต่อด้วยความหวังที่จะกู้ศักดิ์ศรีของประเทศและคนรัสเซียให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งเฉกเช่นสหภาพโซเวียต ทั้งหมดนี้จึงนำไปสู่การที่ปูตินเดินตามกติกาแต่ก็ยังมีอำนาจและบทบาทเหมือนเดิม โดยการมอบหมายให้รุ่นน้องคนสนิท ผู้ซึ่งเรียนมหาวิทยาลัยเดียวกัน และมาจากเมืองเดียวกัน รับตำแหน่งประธานาธิบดีแทน บุคคลผู้นี้คือ ประธานาธิบดี ดมิทรี่ เมดเวเดฟ ส่วนตัวปูตินนั้น ก็ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ในตำแหน่งตั้งแต่ ปี ค.ศ. 2008-2012 ต่อไป การเปลี่ยนฐานะจากประธานาธิบดีมาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นไม่ได้ทำให้บทบาทและอำนาจของปูตินลดลงแต่อย่างใด จนในช่วงนี้มีการวิจารณ์อย่างรุนแรงว่านายกมีอำนาจมากกว่าประธานาธิบดี ที่เป็นเช่นนี้เพราะภาพสื่อต่างๆที่ปรากฎก็จะนำเสนอข่าวของนายกรัฐมนตรีปูตินมากกว่า ประธานาธิบดีเมดเวเดฟด้วยซ้ำ ในยุคนี้เศรษฐกิจรัสเซียเริ่มประสบปัญหาบ้างจากวิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลก
แต่อย่างไรก็ตามสถานการณ์โดยภาพรวมยังดีอยู่ แต่ในด้านสังคมนั้นอำนาจรัฐนั้นเริ่มมีความแข็งกร้าวต่อประชานมากขึ้น เริ่มมีกลุ่มที่ไม่พอใจการใช้อำนาจรัฐของปูตินมากขึ้น ในด้านการต่างประเทศนั้น รัสเซียก็ยังดำเนินนโยบายเชิงรุกโดยเป็นมิตรกับประเทศต่างๆและเริ่มเห็นต่างกับสหรัฐอเมริกามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ความขัดแย้ง รัสเซียกับจอร์เจียร์ ในปี ค.ศ. 2008 การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในยูเครนเป็นต้น อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีปูตินก็สามารถจัดการกับทุกๆปัญหาได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันปูตินก็วางแผนและเตรียมตัวไว้แล้วกับการกลับมาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3 แต่ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่ 3 ปูตินและทีมงานก็ได้มีการแก้รัฐธรรมนูญว่าด้วยระยะเวลาการทำงานของประธานาธิบดี โดยมีการเพิ่มระยะเวลาให้ยาวนานขึ้น กล่าวคือเปลี่ยนจาก 4 ปี เป็น 6 ปี โดยสามารถดำรงตำแหน่งได้เรื่อยๆแต่ต้องห้ามต่อเนื่องกันเกิน 2 วาระเหมือนเดิม
ประธานาธิบดีปูตินสมัยที่ 3
ชัยชนะของปูตินในสมัยที่3 ในช่วงต้นคือปี ค.ศ. 2012-2013 นั้นไม่ค่อยมั่นคงนักกล่าวคือมีกลุ่มต่อต้านปูตินเพิ่มมากขึ้น เพราะประชาชนเริ่มเบื่อหน่ายนักการเมืองหน้าเดิม ประกอบกับอำนาจรัฐที่แข็งกร้าว ข่าวการทุจริตที่เพิ่มขึ้น และการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อก็เพิ่มขึ้นด้วย เหล่านี้ได้นำพาไปสู่ความนิยมที่ลดลงของปูตินและรัฐบาลรัสเซีย อย่างไรก็ตามเหตุการณ์นี้ก็เกิดขึ้นไม่นาน เมื่อมีตัวแปรสำคัญครั้งใหญ่เกิดขึ้น นั่นคือ เกิดสงครามกลางเมืองในยูเครนระหว่างฝ่ายสนับสนุนตะวันตกและฝ่ายสนับสนุนรัสเซีย จนนำไปสู่ วิกฤตการณ์ไครเมีย ที่ท้ายที่สุด ประชาชนเชื้อชาติรัสเซียในไครเมียลงประชามติและขอแยกตัวออกจากยูเครนไปอยู่กับรัสเซีย เหตุการณ์นี้สร้างความโกลาหลไปทั่วโลก เพราะมีความหวาดเกรงกันว่าอาจจะนำไปสู่สงครามระหว่างมหาอำนาจได้ เพราะสหรัฐและชาติตะวันตกออกมาคัดค้านการแยกตัวของไครเมียอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตามความรุนแรงก็ไม่ได้เกิดขึ้นและจำกัดอยู่เฉพาะในประเทศยูเครนและชายแดนรัสเซียเท่านั้น ผลจากเหตุการณ์นี้ทำให้คะแนนนิยมของปูตินกลับพุ่งทะยานสูงมากที่สุดในประวัติศาตร์ทั้งนี้เพราะ สำหรับคนรัสเซียนั้น ไครเมียคือดินแดนของรัสเซียที่เป็นของรัสเซียตั้งแต่สมัยจักรรววรดิแล้ว การที่ได้ไครเมียกลับมาก็เปรียบเสมือนการพาลูกกลับบ้าน ซึ่งผลงานครั้งนี้ถือเป็นผลงานชิ้นใหญ่ที่ประชาชนรัสเซียซึ่งมีความรักชาติภาคภูมิใจต่อบทบาทของปูตินเป็นอย่างมาก
ดังนั้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014 – 2018 รัสเซียภายใต้การนำของปูตินจึงมีความแข็งกร้าวและชัดเจนแบบไม่เคยปรากฎมาก่อน เพราะมีการแข่งขันและคานอำนาจกับสหรัฐโดยตรงในหลายๆพื้นที่ทั่วโลก เช่น ในซีเรีย อิหร่าน อียิปต์ หรือแม้แต่ทะเลจีนใต้ จนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับรัสเซียในช่วงนี้ตึงเครียดอย่างมาก โดยกล่าวกันว่าเป็นสงครามเย็นยุคใหม่เลยทีเดียว ในส่วนเศษฐกิจภายในประเทศนั้น เกิดการระส่ำระสายอย่างหนักเพราะเศรษฐกิจรัสเซียโดนแซงชั่นจากชาติตะวันตกอันมีสาเหตุมาจากวิกฤตการณ์ไครเมีย จนทำให้ค่าเงินรูเบิ้ลเสียหายอย่างหนัก และสินค้าค่าครองชีพของรัสเซียสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์จนนำไปสู่ความเดือนร้อนกันทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามปูตินก็พยายามแก้ปัญหาดังกล่าวโดยการผูกมิตรและดำเนินเศรษฐกิจกับชาติเอเชียมากขึ้น และที่สำคัญเหตุการณ์ครั้งนี้ ปูตินได้ย้ำว่าเป็นโอกาสดีที่เศรษฐกิจของรัสเซียจะสามารถเป็นอิสระจากเศรษฐกิจยุโรปและสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเสียที เพราะตลอดเวลาทีผ่านมาความผันผวนทางเศรษฐกิจของรัสเซียมักถูกกำหนดโดยชาติตะวันตกทั้งสิ้น ถ้ารัสเซียสามารถผ่านวิกฤติ นี้ไปได้นั่นหมายความว่ารัสเซียได้ถ่ายเลือดใหม่ทางเศรษฐกิจและสามารถยืนได้ด้วยตัวเองอย่างแท้จริง ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปปูตินก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่ารัสเซียสามารถยืนหยัดและผ่านมันมาได้ จนท้ายที่สุดชาติยุโรปเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเสียเองและกำลังพยายามกลับมาคืนดีกับรัสเซียเพราะรัสเซียคือตลาดใหญ่ ที่มีทรัพยากรและกำลังซื้อมหาศาล แม้ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะเข้มแข็งขึ้นมาก แต่ในทางการเมืองนั้น ในช่วงปี ค.ศ. 2017-2018 ถือเป็นยุคที่ตกตำที่สุดของปูติน ทั้งนี้เพราะมีข่าวการคอรัปชั่นและทุจริตออกมารายวันและกลุ่มคนทุจริตก็เป็นคนที่ใกล้ชิดปูติน นอกจากนี้ยังมีการปิดกั้นเสรีภาพของสื่อมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นการห้ามการใช้สื่อสังคมออนไลน์บางประเภท การควบคุมเนื้อหาต่างๆก่อนที่จะออกสู่สาธารณะ เหล่านี้ทำให้กลุ่มคนที่ไม่พอใจปูตินและรัฐบาลของเขามากขึ้น จนนำไปสู่การประท้วง ตามเมืองต่างๆมากมาย ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้ส่งผลดีต่อปูตินนัก แต่อย่างไรก็ตาม การเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3 ของปูตินนั้นถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะเขาได้นำพาประเทศไปสู่ระดับใหม่ที่ได้รับการยอมรับมากขึ้น
แน่นอนว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกสองวันข้างหน้านี้กำลังเป็นที่จับตามองว่าจะเป็นอย่างไรและจะส่งผลต่อประชาชนรัสเซียและประชาคมโลกอย่างไร โดยส่วนตัวผู้เขียนเห็นว่าตลอดเวลาการบริหารประเทศอย่างต่อเนื่องถึง 18 ปีของปูติน รัสเซียได้กลับพลิกฟื้นตัวเองจากคนที่แทบสิ้นเนื้อประดาตัวกลับมาเป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่มั่งคั่งและเต็มไปด้วยศักดิ์ศรีเฉกเช่นเดียวกับสมัยของสหภาพโซเวียตอีกครั้ง ดังนั้นประธานาธิบดีรัสเซียที่จะดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี ค.ศ. 2018 -2024 นั้นคาดว่ายังคงเป็นของประธานาธิบดีปูตินต่อไป ถึงแม้ว่าในช่วงหลังจะมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นและภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของรัฐบาลปูตินที่เพิ่มขึ้น แต่ท้ายที่สุดผู้นำรัสเซียที่คนรัสเซียยังคงไว้วางใจคือปูติน เพราะคนรัสเซียเองก็ไม่รู้ว่าจะเลือกใครที่เหมาะสมกว่าปูตินอีกแล้ว แม้ว่าหลายคนอาจจะไม่ชอบปูตินแต่พวกเขาก็ไม่สามารถหาคนอื่นมาแทนปูตินได้ เพราะพวกเขายังจำได้ถึงความเจ็บปวดหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต และมองเห็นแล้วว่ารัสเซียมาไกลเกินกว่าจะย้อนกลับไปตกต่ำเฉกเช่นในยุคทศวรรษที่ 90 อีกแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้เราควรมามองดูกันว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับรัสเซียและประชาคมโลกในอีก 6 ปีให้หลังต่อจากนี้
- ด้านการเมือง แน่นอนว่าการเมืองรัสเซียหลังจากนี้จะมีความเข้มข้นมากขึ้นกล่าวคือ แม้ว่าปูตินจะชนะการเลือกตั้ง แต่การวางตัว บทบาททางการเมืองของปูตินและบุคคลใกล้ชิดจะถูกตรวจสอบมากขึ้นจากสื่อสังคมออนไลน์และภาคประชาชนที่รับรู้ข่าวสารรวดเร็วขึ้น ดังนั้นจึงเป็นที่น่าสนใจว่าปูตินจะจัดการบริหารอำนาจทางเมืองอย่างไรให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้างดังเช่นอดีต แต่ที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือปูตินจะใช้กลยุทธ์ใดในการสร้างความนิยมให้กับตัวเองยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าติดตามยิ่งนัก
- ด้านเศรษฐกิจนั้น ถือได้ว่าเป็นยุคที่เศรษฐกิจรัสเซียหายป่วยเด็ดขาดจากการแทรงแซงเศรษฐกิจจากชาติตะวันตกแล้ว ในยุคนี้จะเป็นยุคที่เศรษฐกิจรัสเซียจะวางรากฐานได้อย่างเข้มแข็งมาก ทั้งนี้เพราะรัฐบาลปูตินสามารถดำเนินนโยบายเดิมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้รัสเซียสามารถยืนอยู่บนลำแข็งทางเศรษฐกิจของตัวเองได้ ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจรัสเซียจะเติบโตขึ้นอีกมาก เพราะคนรัสเซียเริ่มมีความช่ำชองทางธุรกิจ มีการปรับแก้กฎหมายและใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆมาเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจของตนในแบบที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน โดยส่วนตัวผู้เขียนมองว่ายุคนี้เป็นยุคทองที่ถ้าใครอยากทำการค้ากับรัสเซียต้องรีบทำเพราะมีโอกาสมากมายรออยู่ข้างหน้าโดยอาจเปรียบได้กับยุคตื่นทองของสังคมอเมริกาเลยทีเดียว
- ด้านการต่างประเทศนั้น ผู้เขียนคาดว่า สถานการณ์การเมืองโลกจะยิ่งตึงเครียดมากขึ้นเพราะยิ่งรัสเซียเติบโตและแข็งแกร่งมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้สหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตกยิ่งหวาดระแวงรัสเซียมากขึ้นเท่านั้น นั่นหมายความว่า 6 ปี ต่อจากนี้ไปจะมีการเชือดเฉือน ความขัดแย้งและการปะทะกันอยู่เนืองๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงและต้องระวังไม่ให้เกิดการลุกลามเป็นไฟลามทุ่งจนเกิดเป็นสงครามขนาดใหญ่ได้
- สำหรับประเทศไทยและคนไทยนั้น ยุคนี้เป็นยุคที่ดีและเหมาะสมที่สุดที่รัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทยควรมีความใกล้ชิดกับรัสเซียให้มากที่สุดในทุกๆด้าน เพราะรัสเซียมองประเทศไทยและคนไทยเป็นมิตรที่ดีและมีความต้องการใกล้ชิดกับคนไทยอย่างมาก โดยเฉพาะประเด็นทางเศรษฐกิจนั้นเป็นสิ่งที่ต้องรีบดำเนินการให้เร็วที่สุด ยิ่งถ้าคนไทยและรัฐบาลไทยดำเนินการเรื่องนี้ช้า ท้ายที่สุดผลประโยชน์ของรัสเซียที่เราควรจะได้ในฐานะมิตรสหายที่ดีกันมานานอาจจะตกไปอยู่กับประเทศอื่นที่เขามีต้นทุนทางประวัติศาสตร์ที่น้อยกว่าเราแต่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจมากกว่าเราก็เป็นได้
เห็นได้ชัดว่า 18 ปีของรัสเซียภายใต้ปูตินนั้น เป็น18 ปี ที่เต็มไปด้วยประสบการณ์ความเจ็บปวดและความท้าทายอย่างมาก แต่ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการที่ประเทศรัสเซียมีผู้นำที่มีความรักชาติ แน่วแน่ เด็ดเดี่ยว เข้าใจและวางแผนการเปลี่ยนผ่านประเทศอย่างเป็นระบบและเป็นขั้นเป็นตอนนั้น ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสังคมรัสเซียแบบไม่เคยมีมาก่อน โดยส่วนตัวผู้เขียนเห็นว่าหลังจากปี ค.ศ. 2024 ไปแล้ว ไม่ว่าปูตินจะอยู่ในเส้นทางการเมืองต่อไปหรือไม่ พื้นฐานโครงสร้างสังคมของรัสเซียที่เหลืออีก 6 ปี ข้างหน้านี้ (2018-2024)จะเป็นแม่แบบในการพัฒนารัสเซียอย่างยั่งยืน แน่นอนว่าวันนี้ท่านผู้อ่านอาจจะมองว่ายังไงรัสเซียก็ยังคงเป็นเรื่องไกลตัว ผมจึงขอให้ท่านรอดูเถิดว่า รัสเซียใน ปี ค.ศ. 2025 จะเกี่ยวข้องกับท่านในทุกๆด้านแบบที่ท่านคาดไม่ถึงอย่างแน่นอน
หมายเหตุ ผู้เขียนได้แนบ วิดิโอลิงค์ เกี่ยวกับเหตุการณ์การเมืองโลกในช่วง 18 ปีที่ปูตินเป็นประธานาธิบดีเพื่อประกอบสำหรับอรรถรสในการอ่านบทความนี้ด้วย18 лет Путина за 6 минут ://www.youtube.com/watch?v=iVYx-FmPXWM
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวที่เขียนขึ้นเพื่อแบ่งปันให้ความรู้และความเข้าใจประเทศและสังคมรัสเซียจากประสบการณ์และมุมมองที่ผู้เขียนได้พบมาเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่สามารถใช้อ้างอิงในงานวิชาการที่เป็นทางการได้ และจะขอบพระคุณอย่างมากถ้าผู้อ่านช่วยกันแบ่งปันอย่างถูกต้องและให้เครดิตผู้เขียนเพื่อเป็นกำลังใจในการเขียนงานชิ้นต่อไป
ดร. อดุลย์ กำไลทอง
Ph.D. International Relations
Faculty of Political Science, Saint Petersburg State University, Russian Federation.
16 มีนาคม ค.ศ. 2018 กรุงเทพมหานคร