อารยะและวัฒนธรรมรัสเซีย
เริ่มต้นชื่อมาก็บอกให้รู้แล้วว่ากำลังจะกล่าวถึงอะไร…. Culture หรือในภาษารัสเซียที่เรียกว่า Kultura –คูลตูร่า- รากภาษามาจากคำเดียวกันแน่นอน จำได้ไม่ยาก ที่เคยมีกล่าวไว้ว่า ชนใดไม่มีดนตรีกาลในสันดานเป็นคนชอบกลนัก…นี่แหละใครไม่มีวัฒนธรรม (ดนตรี) ในเรื่องนี้ ไปอยู่รัสเซียอาจจะดูแปลกๆ สักนิดอย่างที่ว่าไว้…ทำไมล่ะ…
อาจจะเป็นเรื่องแปลกสำหรับใครที่มีภาพว่าคนรัสเซียติดจะมีบุคลิคแบบเย็นชา หรือดุดันหยาบกระด้างเหมือนหนังสือหรือภาพยนตร์ที่เคยดู หากได้ไปสัมผัสรัสเซีย และได้ค้นพบว่าชีวิตของคนรัสเซียมีสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือการเข้าชมกิจกรรมที่เป็นการแสดงทางวัฒนธรรมและความบันเทิง โดยเฉพาะวัฒนธรรมประเภทคลาสสิค ไม่ใช่เฉพาะการแสดงดนตรีประเภทร่วมสมัย นักร้องยอดฮิต pop rock ชวนกระโดดโลดเต้นเสียงกระเส่าเท่านั้น การแสดงดนตรีและความบันเทิงบนเวทีทุกรูปแบบเหล่านี้มีโฆษณาและประกาศติดตามป้ายริมถนนต่างๆ ทั่วไปมากมาย ในกรุงมอสโก จนคนอย่างเราๆ และใครที่ไม่เคยรู้จักสนใจการแสดงประเภทคลาสสิค ตั้งแต่ บัลเลต์ โอเปร่า ดนตรีคลาสสิคของคีตกวีเลื่องชื่อ เช่น Tchaikovsky Beethoven Brahm Rachmaninov หรือไปจนถึงกระทั่งละครเวที ละครร้อง (เข้าข่ายประเภทคลาสสิคด้วยมั๊ยนี่) รับรองได้ว่า หากเมื่อได้ไปถึงรัสเซีย อย่างน้อยไม่การแสดงอะไรก็อะไรสักอย่างจะต้องผ่านหูหรือผ่านตา… และเพราะที่นี่มีโปรแกรมการแสดงที่สะท้อนอารยะธรรมและวัฒนธรรมชั้นสูงเช่นนี้ให้ได้ดูได้ฟังกันอย่างดาษดื่นในชีวิตประจำวัน จนเราจะรู้สึกได้เองในที่สุดหากได้ไปสัมผัสรัสเซีย ควรจะต้องทำตัว in กับอะไรสักอย่าง ไม่งั้นอาจจะรู้สึกว่าเราช่างไร้อารยะเหลือเกิน และเหมือนเสียทีไปอยู่ที่นี่ (อะไรจะปานนั้น)
คราวนี้ก็เลยต้องมาดูกันว่า หากจะต้องไปรัสเซีย จะมีอะไรให้เลือกชมกันบ้าง รายการนี้เป็นเพียงการเกริ่นนำให้คนที่สนใจจะไปรัสเซีย ได้พยายามใส่ไว้ในกำหนดการ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง..ส่วนใครจะชื่นชมแค่ไหน หรือเข้าไปนั่งหลับ นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
รายการแรกที่ต้องเอ่ยถึงคือการแสดงประเภทบัลเล่ต์ รายการนี้ใครๆ ก็คงพอนึกออกว่าหน้าตาเป็นอย่างไร การแสดงเต้นระบำปลายเท้า ตามจังหวะดนตรีและลีลาของผู้คิดท่าทางตามบทประพันธ์ของแต่ละเรื่อง โดยอาศัยเฉพาะดนตรีวงออร์เคสตร้ากว่า 100 ชิ้น ที่บรรเลงสดๆ อยู่บนพื้นข้างล่างหน้าเวทีเป็นองค์ประกอบหลัก ไม่มีใครร้อง ไม่มีใครพูด มีแต่นักแสดงมากกว่าร้อยชีวิต ที่จะต้องแสดงความสามารถทั้งในลักษณะเฉพาะตัว และความพร้อมเพรียงเป็นหมู่ สื่อสารอารมณ์และเรื่องราวของบทประพันธ์ผ่านการเต้นไปมาอยู่บนปลายเท้าของตน ตามจังหวะของดนตรี ยิ่งเป็นตัวเอกฝ่ายหญิง จะต้องแสดงลีลาการเต้นเดี่ยว เดิน กระโดด และหมุนไปให้ได้อย่างนุ่มนวล อ่อนพริ้ว โดยไม่มีคนช่วยพยุงได้คราวละนานๆ เรียกเสียงปรบมือสนั่นหวั่นไหว หากเป็นฝ่ายชาย ตัวเอกจะต้องกระโดดและตีขาให้ได้สูงๆ และทำติดๆ กัน หลายครั้ง อย่างนี้จะเรียกว่าเยี่ยม…บราโว่…บราโว่
บัลเล่ต์จะสามารถตรึงผู้ชมให้มีความสนใจจนจบเรื่องตลอด 3 ชั่วโมงก็เพราะลีลาการเต้นอันน่าอัศจรรย์ใจ ความสวยงามของชุดและตัวนักแสดง ฉาก ไปจนถึงดนตรีออร์เคสตร้าที่บรรเลงอย่างเข้าถึงอารมณ์อย่างต่อเนื่อง แต่ส่วนจะเป็นการแสดงเรื่องใด ที่โรงละครใด ก็แล้วแต่ กำหนดการของแต่ละโรงละครที่จะสลับกันไปมา ส่วนมากเรื่องนี้ก็จะเล่นประมาณ 2-3 รอบ ในแต่ละฤดูกาล แต่ที่นิยมสุดๆ สำหรับคนที่ดูบัลเล่ต์เป็นกิจกรรมเสริมไม่ใช่ประเภทเกจิชั้นสูง และมีอันจับผลัดจับผลูได้ไปรัสเซีย ก็จะต้องขอชมเรื่อง Swan Lake หรือนางหงส์ผู้อาภัพ Nutcraker เอ..แปลว่าอะไรดี…ตุ๊กตาทหาร ? (มักจะแสดงในช่วงวันคริสต์มาส เพราะเป็นเรื่องของเด็ก) และเรื่อง Sleeping Beauty หรือเจ้าหญิงนิทราอันเลื่องชื่อ ทั้ง 3 เรื่องนี้ ประพันธ์บทเพลงประกอบโดย Pytor Illiych Tchaikovsky คีตกวีชาวรัสเซียที่รู้จักกันดี หากได้ไปรัสเซียในช่วงที่มีกำหนดการแสดงบัลเล่ต์ 3 เรื่องนี้ ก็ถือว่าเป็นโอกาสไม่ควรพลาด
บอกกล่าวเรื่องบัลเล่ต์มาแบบนี้ คนในเมืองไทยอาจจะอิจฉาตาร้อนคนในรัสเซีย แต่จริงๆ สำหรับคนไทยที่อยู่ในรัสเซียก็ใช่ว่าจะโชคดีกว่าคนที่กรุงเทพฯ เสมอไป เพราะอย่างน้อยก็ไม่มีใครมีโอกาสเหมือนคนกรุงเทพฯ ที่ได้ชมบัลเล่ต์เรื่องแคทยากับเจ้าฟ้าชาย (Katya and the Prince) ที่ถูกสร้างขึ้นจากเรื่องราวตำนานรักของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ และแคทยาหรือ เยเคเธอริน่าเดนิสสกาย่า หญิงสาวสามัญชนคนรัสเซียเชื่อสายยูเครนเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ซึ่งทางคณะบัลเล่ต์ของ Kremlin Palace อันลือชื่ออีกแห่งหนึ่งของรัสเซีย ได้นำมาแสดงรอบปฐมทัศน์ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยเมื่อเดือนธันวาคม 2547 และจนบัดนี้ ยังไม่มีโอกาสได้แสดงรอบปฐมทัศน์ที่กรุงมอสโกตามที่กำหนดไว้..ปล่อยให้คนไทยในมอสโกตั้งตารอคอยด้วยความผิดหวัง…
นอกจากบัลเล่ต์ก็จะมีโอเปร่าหรือละครเพลงร้อง ความจัดเจนและอารมณ์ของนักร้องที่เป็นตัวแสดงนำทั้งฝ่ายชายฝ่ายหญิงในการร้องบทประพันธ์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ในระดับคีย์และเสียงขึ้นลงไปมาเอื้อนเอ่ยออกมาจากลำคอ บาดหูและบาดความรู้สึก และท่าทางการแสดงจนไปถึงแววตาที่สื่อออกมาจากบทร้องและเนื้อเรื่อง คือเสน่ห์ของการเข้าไปฟังและชมโอเปร่าที่แตกต่างไปจากบัลเล่ต์ ซึ่งแม้การแสดงโดยรวมอาจจะไม่วิจิตรตระการตาเท่าบัลเล่ต์ในสายตาของหลายคนก็ตาม แต่ความไพเราะของดนตรี บทประพันธ์ที่ชวนติดตาม และฉาก ก็ชวนให้โอเปร่าเป็นการแสดงบันเทิงอีกรายการที่ไม่ควรพลาด ตลอดเวลา 3 ชั่วโมงที่เข้าไปนั่งในโรงละครเพื่อชมโอเปร่าเรื่องใดก็ตาม จะเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขหากจะเข้าใจเรื่องราวและมีความลึกซึ้งเข้าใจศิลปะในการร้องเพลงประเภทนี้ แต่ในทางกลับกันอาจจะกลายเป็นเวลาแห่งความทรมาน การง่วงเหงาหาวนอนของบรรดานักท่องเที่ยวที่บังเอิญตั้งใจจะแค่โฉบเข้าไปชมเพื่อให้ได้ชื่อว่าเข้าไป เพราะว่าจะออกมาจากโรงพร้อมกับเสียงบ่นพึมพำว่า ดูอะไรไม่รู้เรื่องเลย ฉะนั้น หากต้องดูโอเปร่า ก็ขอแนะนำให้ลงทุนซื้อหนังสือเรื่องย่อที่คุณป้าพนักงานถือในมือขายอยู่หน้าโรง สนนราคาประมาณ 100 รูเบิ้ล เพื่อจะช่วยให้การชมโอเปร่าเป็นไปอย่างถึงอรรถรส เข้าใจได้ว่า กำลังจะร้องและแสดงอะไร และให้ทำใจว่าจะต้องฟังเสียงร้องโหยหวนเช่นนี้เป็นเวลานานเช่นนี้เพราะเหตุใด ที่มาที่ไปอย่างไร
บอกได้ว่าบทร้องโอเปร่าในรัสเซียไม่มีตัววิ่งภาษาอังกฤษกำกับที่เวทีเช่นในโรงละครอีกหลายแห่ง หากจะมีบ้างก็เป็นบทแปลเป็นภาษารัสเซียในกรณีที่การร้องของเรื่องนั้นเป็นภาษาอิตาเลียน ไม่มีตัวช่วยจริงๆ นอกจากเรื่องย่อที่ถือในมือเท่านั้น เรื่องที่แสดงก็จะมีทั้งของนักประพันธ์อิตาเลียน เช่น Puccini ไปจนถึงบทประพันธ์ของรัสเซียเอง เช่น Evgeny Onekin, Boris Gudonov, Queen of Spade แต่มีผู้จัดเจนโอเปร่าให้ข้อสังเกตไว้ว่า โอเปร่าของรัสเซียมักจะเป็นเรื่องและมีท่วงทำนองที่หม่นหมองและเป็นโศกนาฏกรรม ไม่สนุกรื่นเริงตื่นเต้นเร้าใจอย่างบทประพันธ์ของอิตาเลี่ยน เท่าที่ได้ไปชมมาหลายเรื่อง ก็เห็นว่าท่าจะจริง…
สำหรับรัสเซีย โดยทั่วไปทั้งการแสดงบัลเล่ต์และโอเปร่าในแต่ละโรงละครก็จะเป็นการแสดงโดยคณะที่ประจำอยู่ในแต่ละโรงละครนั้นๆ และใช้วงออร์เคสตร้าของโรงละครบรรเลงดนตรีประกอบเพียงแต่กำหนดโปรแกรมสลับไปมา บางวันเป็นบัลเล่ต์ บางวันเป็น โอเปร่า และกรุณาอย่าเข้าใจผิดว่า บัลเล่ต์จะมีแสดงเฉพาะที่โรงละครบอลชอย (Bolshoi Theatre) อันเลื่องชื่อเท่านั้น ที่จริงมีโรงละครที่มีการแสดงบัลเล่ต์มากมาย ทั้งในกรุงมอสโกเมืองหลวง ไปจนถึงเมืองใหญ่ๆ ต่างจังหวัดของรัสเซีย แม้แต่ประเทศที่เป็นอดีตสหภาพโซเวียต เช่น อุซเบกิสถาน ยูเครน ก็ล้วนแต่มีคณะของโรงละครตัวเอง และในเมืองหลวงของประเทศเหล่านี้ก็จะเรียกโรงละครประจำเมืองว่าบอลชอยเหมือนกัน (เพราะหมายถึงโรงละครโรงใหญ่) แต่คณะของโรงละครบอลชอยที่มอสโกมีความเก่าแก่ และฝีไม้ลายมือจัดจ้าน แถมได้เปรียบตรงที่ตัวโรงละครอันเป็นที่แสดงนั้นก็มีความอลังการใหญ่โต และตกแต่งภายในอย่างตระการตา สมกับที่มีความหมายตามชื่อว่า “โรงละครโรงใหญ่” ซึ่งโรงอื่นๆ ไม่สามารถเทียบเคียงชั้นได้ (หากจะมีคู่แข่งที่เทียบชั้นกันได้ในรัสเซีย ก็จะมีแต่ โดยเฉพาะโรงละครมาริอินสกี้ (Mariinsky Theatre หรือชื่อเก่าคือ Kirov) ที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเท่านั้น ซึ่งมีความเก่าแก่ ฝีไม้ลายมือจัดจ้าน และกิตติศัพท์ชื่อเสียงเก่าแก่มานาน และตัวโรงละครเองก็มีความสวยงามตระการตาไม่แพ้ใครและโด่งดังคู่แข่งกันมากับโรงบอลชอยที่กรุงมอสโก เพียงแต่ฝ่ายหลังดังกว่าเพราะตั้งอยู่ที่เมืองหลวง ที่ใครๆ ก็ผ่านไปมา) สำหรับกรุงมอสโก รองลงมาจากคณะโรงละครบอลชอยนี้ ก็ยังมีโรงละครของพระราชวังเครมลิน (Kremlin Palace) ซึ่งยึดที่มั่นตั้งอยู่ในเขตพระราชวังเครมลิน แต่ตัวโรงนั้นเป็นอาคารแบบหอประชุมขนาดใหญ่จุผู้คนเป็นพันๆคน สร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นที่ประชุมสมัชชาของพรรคคอมมิวนิสต์ ในสมัยสหภาพโซเวียต หาความคลาสสิคแบบโรงละครบอลชอยมิได้เลย และอีกคณะหนึ่งที่น่าจะรู้จักคือ คณะโรงละครสตานิสลาฟสกี้ ดามิเชนโก (Stanislav and Damichenko Musical Theatre) โรงนี้มีชื่อเสียงการแสดงบัลเล่ต์หลายเรื่องและเป็นโรงผู้เชี่ยวชาญบัลเลต์เรื่อง Swan Lake เพียงแต่โรงเล็กกว่าโรงละครบอลชอยมาก เท่านั้น
ตัวบ่งชี้ว่าจะดูการแสดงที่โรงละครใดนั้น นอกจากโปรแกรมที่มีในแต่ละวันไม่เหมือนกัน และฝีมือการแสดงแล้ว ก็คือราคาบัตรชมการแสดง ซึ่งก็ขึ้นกับแต่ละเรื่องที่จะแสดงและตำแหน่งที่นั่งด้วย ทั้งสำหรับบัลเล่ต์และโอเปร่า แน่นอนที่สุดสำหรับโรงบอลชอย ราคาก็ต้องใหญ่โตตามชื่อมากกว่าโรงอื่น บัตรชมบัลเล่ต์จะมีราคาสูงกว่าโอเปร่า โดยทั่วไปราคากำหนดไว้ประมาณ 30-50 USD แต่ถ้าเป็นเรื่อง Swan Lake อย่างน้อย 80 USD แต่หากได้ไปรัสเซียครั้งเดียว หากขอแค่ได้เข้าโรงละครบอลชอย แม้จะจ่ายแพงแสนแพงและจะดูไม่รู้เรื่องฟังไม่เข้าใจเลยตลอด 3 ชั่วโมงนั้นก็ตาม เพราะแค่เข้าไปนั่งมองดูการตกแต่งอันวิจิตรพิสดารหยดย้อยตระการตาไม่น้อยหน้าโรงละครเก่าแก่แห่งปารีส หรือมิลาน และจินตนาการถึงความรุ่งเรืองและอารยธรรมที่ถ่ายทอดสั่งสมมา ตั้งแต่สมัยโบราณ และรักษาไว้อย่างดีจนถึงปัจจุบัน ก็จะให้รู้สึกอิจฉาคนรัสเซียและเกินคุ้มแล้ว
แต่ขอโทษ…พูดไปก็แค่กระตุ้นต่อมอยากให้ทำงานเท่านั้น เพราะจากนี้ไปจนถึงปี ค.ศ. 2008 เราก็จะไม่ได้มีโอกาสเข้าไปเหยียบโรงละครบอลชอยอีก เพราะขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการปิดซ่อมแซม นัยว่าเพื่อให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัยขึ้น เหมือนกับโรงละครที่ได้มาตรฐานของที่อื่นๆ ฉะนั้น ไปรัสเซียครั้งต่อไปในช่วงนี้ ก็ทำใจได้ว่าต่อให้มีเงินสักเท่าใด ก็จะไม่ได้เข้าไปชมโรงบอลชอยเก่าอีกแน่นอน
เดินออกจากโรงละคร ชมนาฏลีลา คราวนี้ ก็แวะเข้าโรงดนตรี เพื่อชมคีตบรรเลงบ้างเสียหน่อย เพื่อความหลากหลายของชีวิต เพราะดนตรีกับคนรัสเซียเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก เป็นส่วนหนึ่งของความสุขในชีวิตประจำวัน ดังนั้นในกรุงมอสโก และเช่นเดียวกับเมืองใหญ่อื่นๆ ของรัสเซีย ต่างก็มีสถานที่แสดงดนตรีประจำเมืองเป็นเรื่องปกติ สำหรับรองรับการแสดงดนตรีคลาสสิคระดับวงออร์เคสตร้าประจำเมือง และดนตรีประเภทอื่นๆ เฉพาะในกรุงมอสโก มีสถานที่แสดงดนตรีมากมายหลายแห่ง แต่ที่เป็นที่รู้จักกันดี คือ 3 แห่งใหญ่ๆ คือโรงของสถาบันการดนตรีตั้งชื่อตาม ปีเตอร์ ไชคอฟสกี้ คีตกวีชาวรัสเซียอันโด่งดังที่มีชีวิตอยู่ในราวปี ค.ศ. 1840-1893 (Conservatory named after Pytor Tchaikovsky) และอีกแห่งคือโรงคอนเสิร์ต Tchaikovsky Concert Hall (ฟังแล้วอาจสับสน เพราะอะไรๆ ก็ต้องไชคอฟสกี้) แถมท้ายด้วยโรงดนตรีที่เปิดใหม่ คือ Moscow International House of Music (อยู่รัสเซียต้องถามหา MMDD หรือ Moscovsky Musicalyny Mezhdunarodny Dom) เฉพาะสามโรงนี้ ก็มีการแสดงทุกวันให้เลือกชมกันไม่ไหว และสำหรับวงดนตรีประเภทออเครสตร้าในรัสเซียเองคาดว่าคงมีในระดับเป็นร้อยวง เฉพาะที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนแสดงในโรงดนตรีทั้งสองแห่งในกรุงมอสโกก็ไม่น่าจะต่ำกว่า 20 วงแล้ว และยังเมืองอื่นๆ ที่ต่างมีวงของตนเอง ดังบ้างไม่ดังบ้าง เรียกว่าดนตรีนี้อยู่ในสายเลือดจริงๆ ว่างั้นเถอะ วงดนตรีที่มีชื่อก็เช่น National Philharmonic Orchestra of Russia, Symphony Orchestra of Russia และอีกสารพัด วาทยากรและนักดนตรีชั้นนำระดับโลกก็มีมากมาย ถ้าเป็นวาทยากรหรือผู้ที่แสดงเดี่ยวระดับปรมาจารย์ ราคาบัตรชมดนตรีแบบต่ำสุดก็อาจจะสูงถึงระดับ 100 USD ในขณะที่โดยทั่วไปมีเงินในมือสัก 15 USD ก็ได้บัตรชมคอนเสิร์ตในที่นั่งดีๆ แล้วด้วยซ้ำ
นอกจากหลักๆ เหล่านี้แล้ว ยังสามารถหาชมการแสดงละคร หรือการแสดงแบบคลาสสิคแต่เวอร์ชั่นพลิกแพลง ได้ตามโรงละครอื่นๆ ที่กระจัดจาย ซ่อนตัวอยู่ตามถนนทั่วไปในกรุงมอสโกใหญ่บ้างเล็กบ้าง เพียงแต่จะไม่ค่อยพลัดหลงเข้ามาในสายตาเราเพราะ อ่านไม่ออก ฟังไม่รู้เรื่อง ไม่ได้มีไว้สำหรับคนต่างชาติที่ไม่เข้าใจภาษารัสเซียอย่างเราๆ เท่านั้นแหละ แต่ถ้าอ่านและฟังภาษารัสเซียออกบ้าง ขอรับรองว่า ใน 365 วันของชีวิตที่กรุงมอสโก จะสามารถหาชมการแสดงวัฒนธรรมเหล่านี้ได้โดยไม่ซ้ำกันอย่างชุ่มฉ่ำสำราญใจ อ้อ…จะบอกตลอด 365 วันไม่ได้สินะ เพราะว่าปกติการแสดงต่างๆ เหล่านี้ จะมีเฉพาะช่วงเดือนกันยายน-มิถุนายน เท่านั้น ในฤดูร้อน จะไม่มีการแสดงของวงรัสเซีย บรรดาคณะต่างๆ จะออกเดินสายไปแสดงในต่างประเทศ (รวมทั้งไทย) ปล่อยโรงไว้ป็นเวทีสำหรับคณะจากต่างประเทศเข้าไปแสดงให้คนรัสเซียได้ชมบ้าง..
การเข้าไปชมการแสดงในโรงต่างๆ ในรัสเซียจะมี tip อยู่อย่างที่พึงรู้ และจะได้ไม่แปลกใจ คือพฤติกรรมมั่วนิ่มประเภทไม่มีบัตรแต่เข้าไปนั่งที่ของคนอื่น แต่งตัวก็สวยแบบไปคอนเสิร์ตอย่างดี นั่งไปจนกว่าเจ้าของเขาจะมา ก็จะลุกไปแบบเงียบๆ หาที่อื่นต่อ เหมือนเห็นเป็นเรื่องปกติ จะมีให้เห็นเป็นประจำ แรกๆ ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงมีคนไม่มีบัตรเข้ามาได้ และที่ยิ่งกว่านั้น คือ ทำไมไม่เห็นมีคนรัสเซียออกอาการโมโหเลยเวลาเจอคนนั่งที่ตัวเอง มีแต่เราๆ ที่โวยวายเวลาเจอคนอื่นมานั่งที่เรา จนตอนหลังถึงบางอ้อว่า เขามีธรรมเนียมให้ตั๋วฟรีสำหรับเข้าไปในโรงแบบไม่ระบุที่นั่งสำหรับญาติมิตรของคนที่ทำงานที่โรงละครหรือนักดนตรีที่แสดง และไปลุ้นไปหาที่เอาเองว่าจะมีที่ไหนว่างบ้าง เพราะบางการแสดงก็ไม่มีผู้ชมเต็ม และเมื่อได้เจอกับตัว คือเมื่อได้รับบัตรฟรีแบบนี้ ก็คิดว่าโชคดีได้บัตรฟรี คนให้ก็บอกว่า หาที่นั่งเอาเอง ไม่มีปัญหา ก็เข้าไปหาที่นั่งใหญ่เลย แต่สักพักก็มีแต่คนมาทวงที่ จนเสียศูนย์รู้สึกแย่มาก แล้วเลยได้รู่แล้วว่า ตั๋วที่เราได้นี่แหละคือตั๋วแบบเดียวกับที่คนอื่นชอบมานั่งที่เรารอเราทวงคืน หลังจากนั้น ก็เข้าใจความรู้สึกทันทีว่าเขาไม่ใช่คนเลวร้ายอะไรหรอก แต่มันเป็นระบบที่เขามีเป็นปกติเพื่อเอื้อเฟื้อกันและกัน คนรัสเซียเขาถึงเข้าใจกัน ไม่เห็นว่าเป็นเรื่องแปลกใหญ่โตอะไร จากนั้นมาก็เลยไม่ว่ากันอีกแล้ว และหากใครไปเจอแบบนี้ ก็อย่าไปว่าเขาเลยนะ…
เมื่อได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับรัสเซียในด้านการแสดงทางวัฒนธรรมต่างๆ เหล่านี้ ยังอยากบอกว่าไม่เคยมีภาพว่าแท้จริงแล้วในรัสเซียจะยังมีมากยิ่งกว่าเท่าที่เคยได้ยินมา และเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คน ที่สำคัญนี่คือความสุขที่คนในทุกชั้นทุกระดับรู้สึกสัมผัสได้ เข้าถึงได้และเข้าถึงอย่างซาบซึ้งด้วยจิตวิญญาณ ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นเฉพาะของคนชั้นสูง หรือเฉพาะคนที่มีการศึกษา (เช่นในหลายๆ ประเทศ) การที่วัฒนธรรมคลาสสิคอันเป็นศาสตร์ซึ่งต้องอาศัยการเรียนรู้ ปลูกฝัง และถ่ายทอดรักษาเช่นนี้ยังคงปรากฏในรัสเซียสืบเนื่องมาหลายร้อยปี เป็นสิ่งที่บอกให้รู้ได้อย่างดีว่า คนรัสเซียนั้นได้รับการปลูกฝังทางการศึกษาและมีความลึกซึ้งทางภูมิปัญญาวัฒนธรรม และศิลปวิทยาการ ไม่น้อยหน้าชาวยุโรปชาติใด และไม่ว่าจะอย่างไร รัฐบาลรัสเซียในสมัยสหภาพโซเวียตก็ได้ให้โอกาส และตระหนักถึงความสำคัญในการปลูกฝังความเข้าใจและความรู้ทางดนตรีแก่คนรัสเซีย อย่างน้อยในวัยเยาว์เกือบทุกคนได้มีโอกาสเรียนรู้ทฤษฎีและฝึกการเล่นดนตรี และมีโอกาสได้รับการฝึกฝนเป็นพิเศษ หากเป็นคนที่มีพรสวรรค์ทางด้านดนตรี และที่สำคัญในสมัยนั้นการเป็นนักดนตรีถือเป็นหนึ่งในอาชีพที่มีเกียรติและได้รับค่าตอบแทนอย่างสูง ดนตรีจึงเป็นส่วนหนึ่งของสังคมรัสเซียที่สืบตกทอดมาในสายเลือด ไม่ว่าจะมีฐานะมากน้อยปานใด
ความซาบซึ้งทางดนตรีดังกล่าวนี้สามารถสัมผัสได้จากการที่ทุกครั้งที่ได้เข้าไปในโรงละครหรือโรงดนตรี มองไปรอบๆ ข้างตัวที่มีคนรัสเซียรายรอบ (ยกเว้นโรงบอลชอย) จะมองเห็นสิ่งหนึ่งที่ฉายโชนออกมาเหมือนกันคือแววตาและใบหน้าแห่งความดื่มด่ำอิ่มเอมกับการแสดงที่อยู่เบื้องหน้าของตน….ทุกคนไปชมไปฟังด้วยหัวใจด้วยความสุขที่ไม่ต่างกัน จนนึกได้ว่าอดีตเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำรัสเซียคนหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า คนรัสเซียอาจจะผ่านความทุกข์ความขมขื่นมายาวนาน มีความยากดีมีจนต่างกัน จนทำให้บุคลิกภาพประจำชาติออกมาในลักษณะกระด้างและเฉยชา แต่หากได้เข้าไปนั่งในโรงละครหรือดนตรี จะได้เห็นประกายตาที่ฉายโชนความอ่อนโยนนุ่มนวลที่เปี่ยมล้นแสดงผ่านออกมาอย่างตรงข้ามกับภาพลักษณ์คนรัสเซียที่เราๆ คุ้นเคยโดยสิ้นเชิง …นี่คือคนรัสเซียในอีกบุคลิกภาพหนึ่ง…ที่ไม่เห็นจะนึกไม่ออกจริงๆ
แต่…ความอ่อนโยน ความซาบซึ้งในศิลปวัฒนธรรมชั้นสูงเหล่านี้แม้จะมีจริง และเห็นด้วยอย่างเต็มหัวใจว่าคนรัสเซียเป็นเช่นนี้จริงๆ แต่ความจริงที่ปรากฏทันทีหลังการแสดงสิ้นสุดลง เสียงร้องตะโกน Bravo!! Bravo!! พร้อมเสียงตบมือสั่นหวั่นไหวรอบแล้วรอบเล่าจางหายไป เราก็จะได้เห็นภาพผู้คนเป็นพันๆ ทะลักล้นออกมาวุ่นวายตรงห้องโถงทางเดิน เพื่อเอาเสื้อโค้ตและทรัพย์สินส่วนตัว (โดยเฉพาะในหน้าหนาว) ที่เคาน์เตอร์ที่ป้าๆ พนักงานต่างรอรับบัตรหมายเลขกุลีกุจอไปหยิบให้ สับสนอลหม่าน บางทีแน่นจนไม่รู้ว่าคิวไหนเป็นคิวไหน มือไหนเป็นมือไหน และรายการลัดคิวที่มั่วนิ่มมาจากไหน ประเภทให้เพื่อนหรือคนในครอบครัวยืนต่อแถวอยู่คนเดียว สักพักโผล่มาจากไหนอีสามสี่คน ช่างเป็นความโกลาหลเบียดเสียดที่ก็ต้องนับได้ว่าก็น่าจะถือเป็นอีกวัฒนธรรมหนึ่งร่วมกับการชมคอนเสิร์คของชาวรัสเซีย และสามารถทำให้เราลืมความสุขความสงบที่เพิ่งดื่มด่ำมาในชั่วนาทีก่อนหน้านั้นไปได้อย่างสนิทใจ…ลืมไปเลยว่าเมื่อกี๊ไปอยู่ในที่ไหนมา สิ่งที่เห็นตรงหน้าช่างต่างกันโดยสิ้นเชิง…นี่แหละโรงละครโรงใหญ่ และบางทีวัฒนธรรมของคนรัสเซียอาจจะสูงส่งและซับซ้อนเกินไปจนไม่สามารถคาดเดาและมีข้อสรุปอย่างมั่นใจได้เลยก็เป็นได้ และอาจจะเป็นวัฒนธรรม…Kultura…ที่แท้จริงก็ได้…ใครจะรู้!!!
และสำหรับรัสเซียในวันที่กระแสความเป็นสมัยใหม่กำลังหลั่งไหลท่วมบ้าน่วมเมือง วัฒนธรรมการฟังดนตรีคลาสสิคอาจจะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ยังฝังรากลึกในความเป็นรัสเซีย แม้ว่ากระแสดนตรีสมัยใหม่จะเป็นที่นิยมทั่วบ้านทั่วเมืองมากขึ้น คอนเสิร์ตนักร้องดังๆ จากทุกภูมิภาคไปเปิดการแสดงในกรุงมอสโกให้เห็นอยู่ดาษดื่น แต่คณะแสดงนาฏลีลาทั้งหลายและวงดนตรีคลาสสิคของรัสเซียก็ยังคงสืบสายได้รับความนิยมทัดเทียมดนตรีสมัยใหม่ได้อย่างไม่แพ้กัน สายลมอาจพัดพาความทันสมัยฉาบฉวยมาให้สัมผัสทุกเมื่อเชื่อวัน แต่ความคลาสสิคก็ยังคงเป็นสิ่งคลาสสิคคู่กับคนรัสเซียอย่างที่คงอีกนานนักกว่าจะผันแปรไป
ทิป : การจะไปชมการแสดงบันเทิงคลาสสิคในกรุงมอสโก
สามารถซื้อบัตรได้ที่เคาน์เตอร์ขายบัตรหน้าโรง และจำหน่ายบัตรก่อนล่วงหน้า ปัจจุบันมีบริการซื้อบัตรทางอินเตอร์เน็ต และบริการส่งบัตรถึงที่อยู่ผู้ซื้อ แต่โดยปกติผู้คนจะยังนิยมไปซื้อที่โรง สำหรับการแสดงทุกรูปแบบที่โรงละครบอลชอยควรซื้อบัตรไว้แต่ล่วงหน้า หาไม่จะเสี่ยงต่อความผิดหวัง หรือทำใจซื้อตั๋วผีหน้าที่ขายตั๋ว (เหมือนเมืองไทยเป๊ะ) สนนราคาสามารถอั๊พจากราคาจริงไม่ต่ำว่า 3 เท่า เช่นครั้งหนึ่งเคยซื้อบัตรให้เพื่อนซึ่งเดินทางไปมอสโกแบบไม่ยอมตัดสินใจว่าจะดูละครที่บอลชอยหรือไม่ จนไปถึงก็บอกว่าอยากดู ช่วยหาตั๋วหน่อยสิ นั่นแหละ อย่างที่คิดไว้ตั๋วถูกขายไปหมดแล้ว และต้องใช้บริการตั๋วผี จากราคาแค่ 800 รูเบิ้ล กลายเป็นจ่ายไป 2500 รูเบิ้ล และนั่งสูงถึงชั้น 4 นี่ขนาดไม่ใช่เรื่อง Swan Lake นะเนี่ย
หากไปซื้อบัตรด้วยตนเองทำใจได้ว่าจะต้องสื่อสารด้วยภาษารัสเซียเป็นหลัก และเสี่ยงต่อการโมโหที่พูดกับคนขายไม่รู้เรื่อง
ควรไปที่สถานที่ล่วงหน้าอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง เพราะทุกที่จะมีการตรวจสอบความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ทั้ง x-ray กระเป๋าและเปิดประตูทางเข้าเพียง 1 หรือ 2 จุด คิวจะยาวจนล้น (เหตุเกิดมาจากการป้องกันประวัติศาสตร์ซ้ำรอยกรณีการจับตัวประกันที่โรงละคร ขณะที่กำลังแสดงละครเรื่อง Nord-Ost เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2545)
ในฤดูหนาว ควรเผื่อเวลาสำหรับการฝากเสื้อโค้ต และการปีนขึ้นลงบันไดของโรงละครแต่ละแห่ง ซึ่งไม่มีลิฟท์ บันไดล้วนๆ 3-4 ชั้น เป็นเรื่องธรรมดา และควรจะทิปคุณป้าตอบแทนน้ำใจและความกุลีกุจอช่วยหยิบเสื้อโค้ตให้เมื่อเวลารับกลับ ปกติ 10 รูเบิ้ล ต่อ 1 ตัว และบางทีหากชูเงินทิปไว้ในมือดีๆ ให้ป้าเห็น อาจจะได้อานิสงส์ได้เสื้อโค้ตแบบลัดคิวเร็วขึ้น (เรื่องจริงเกิดขึ้นมาแล้ว เวลาชุลมุน) อันนี้อาศัยครูพักลักจำมาจากเวลาเห็นผู้ที่มีบุคลิกแบบมาเฟียมีเงินมารับเสื้อ ดูแล้ว work มาก เวลาไม่รู้มือใครเป็นมือใคร
เวลาพักระหว่างการแสดงประมาณ 15 นาที จะมีการขายเครื่องดื่มทั้งแอลกอฮอล์และไม่ใช่แอลกอฮอล์ รวมไปถึงของว่างประเภทคานาเป้ หรือไอศกรีม แต่คิวจะยาวจนล้นหลาม ดังนั้นหากใครความอดทนต่ำ หรือท้องใจเสาะ ควรทานอาหารรองท้องก่อนไปชมการแสดง และ อ๊ะแฮ่ม…จังหวะพักนี้ คือเวลาที่จะได้อวดโฉมความงามและการแต่งตัวกันอย่างเต็มที่ ฉะนั้น หลังจากเมื่อยสายกับการแสดงบนเวที ก็มาดูการแสดงรอบของจริงหน่อยเป็นไร
การแต่งกาย เป็นคำถามยอดฮิตเวลาคนไทยไปชมการแสดงที่มอสโก ขอบอกว่า หากอยากสวยเริ่ดหล่อหรูดูเท่ห์แค่ไหน ก็สามารถประชันได้เต็มที่ แต่หากอยากแต่งตัวแบบธรรมดาเรียบง่าย ไม่ต้องใส่เสื้อนอกผูกเน็คไท ก็สามารถไปได้โดยไม่ต้องเคอะเขินเช่นกัน ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด แต่ขอแค่ว่าให้มันไปกันได้ทิศทางเดียวกันกับคนที่เราไปด้วย หรืออย่าถึงขั้นกางเกงยีนส์ก็คงพอไหว แต่สำหรับคนรัสเซียส่วนมากแล้ว การแต่งตัวแบบดูดีไปคอนเสิร์ต ก็ยังเป็นความสุขเล็กของเขาอยู่..
เรื่องโดย: ภัทรัตน์ หงษ์ทอง
No Comments