Enter your keyword

ความหลังของ “ชา” กับวัฒนธรรมที่ “ถูกลืม”

ความหลังของ “ชา” กับวัฒนธรรมที่ “ถูกลืม”

1234502_651687598188930_67587683_n
คนไทยเราถ้าพูดถึงชา ส่วนใหญ่จะนึกถึงชาเย็นเป็นอันดับแรก เพราะเมืองไทยเราเป็นเมืองร้อน แต่ถ้าเราไปพูดถึงชาที่รัสเซีย บอกได้เลยว่าร้อยทั้งร้อย คนรัสเซียจะนึกถึง ชาร้อน ชาวรัสเซียเป็นชนชาติหนึ่งที่รักการดื่มชาร้อนเป็นชีวิตจิตใจ คนไทยคนไหนที่ไปอยู่ในกลุ่มของชาวรัสเซียนานๆ แล้ว จากแต่ก่อนไม่เคยกินชาร้อนก็อาจกลายเป็นติดชาไปโดยปริยาย เพราะทุกครั้งที่มีเวลาว่างชาวรัสเซียก็จะชวนกันมาตั้งวงดื่มน้ำชากัน ชิบชากันไป คุยกันไป เม้ากันไป ชอบกินไม่ชอบกินยังไงถ้าไปนั่งบนโต๊ะเค้าแล้วก็ต้องถูกรินชาให้ จะว่าไปบนโต๊ะชาของชาวรัสเซียนี่มันช่างน่านั่งเสียนี่กระไร เพราะมันสามารถดึงดูดคนทุกเพศทุกวัยรวมถึงคนต่างชาติอย่างเราๆ ให้มาร่วมโต๊ะได้ไม่ยาก ด้วยของกินที่เรียงรายอยู่บนโต๊ะ ไม่ว่าจะเป็น ช้อกโกแลต บิสกิต แพนเค้ก แยม นม หรือ น้ำผึ้ง และบ่อยครั้งที่เห็นของคาวในรูปของขนมปังใส้เนื้อสัตว์และผักอยู่บนโต๊ะเดียวกันกับชา คนไทยที่ไม่เคยสัมผัสกับชาวรัสเซียอาจจะมองว่าการดื่มชาไม่ใช่เรื่องยาก เพียงกระดกแล้วแล้วยกดื่ม แต่จริงๆ แล้ว ประเพณีการดื่มชาของของเขามันมีรายละเอียดอะไรที่มากกว่านั้น…..

อยากเกริ่นย้อนไปถึงประวัติความเป็นมาของชาในรัสเซียซักนิดนึงก่อน จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชาวรัสเซียรู้จักการดื่มชามาตั้งแต่ ต้นศตวรรษที่ 17 ซึ่งในสมัยนั้นในดินแดนรัสเซียยังไม่มีการปลูกชาเกิดขึ้น ชาส่วนใหญ่ที่ชาวรัสเซียดื่มนำเข้ามาจากจีน วัฒนธรรมการดื่มชาเริ่มแรกในช่วงศตวรรษที่ 18-19 ชามักดื่มกันอยู่เฉพาะในสังคมชั้นสูง ซึ่งในขณะนั้น ก็คือ เหล่าบรรดาขุนนาง และ พ่อค้า สำหรับกลุ่มขุนนาง การดื่มชาในช่วงแรกดื่มในแก้วใส โดยมีที่รองแก้วสีเงินมีลวดลายต่างๆ (การเสริฟชาแบบนี้ยังคงมีให้เห็นอยู่บนรถไฟในรัสเซีย) แต่ต่อมาหลังจากที่มีเครื่องกระเบื้องประเพณีการดื่มชาจากแก้วใสก็หายไป และถูกนำกลับเข้ามาอีกใช้อีกครั้งหนึ่งในกลุ่มสามัญชน ในแก้วชามีการใส่นมลงไป เช่นเดียวกันกับการดื่มชาของชาวอังกฤษ นอกจากนั้นในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ยังนิยมดื่มชาผสมกับเหล้ารัม ซึ่งเหล้ารัมในขณะนั้นก็เป็นของมีราคาและหาซื้อไว้ครอบครองได้ไม่ง่ายนักพอๆ กันกับชา

สำหรับการดื่มชาในหมู่พ่อค้ามีระดับทั้งหลาย ซึ่งถือเป็นต้นแบบของการดื่มชาในปัจจุบัน กล่าวคือ มีการจัดโต๊ะดื่มชา โดยบนโต๊ะจะประกอบไปด้วย ซามาวาร (กาน้ำร้อน) แยม น้ำผึ้ง ขนมอบ ไปจนถึงขนมปังใส้คาว เช่น เนื้อสัตว์ การดื่มชาของคนเหล่านี้ค่อนข้างใช้เวลายาวนาน ดื่มกันครั้งหนึ่งเป็นหลายสิบแก้ว การที่จะไปชงชามาไว้หลายๆ เหยือก จึงเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ดังนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะชงเข้มๆ ไว้ในกาใบเดียว และในซามาวารก็จะเป็นน้ำร้อนที่เอาไว้เติมลงในถ้วยหลังจากรินชาเข้มข้นลงไปแล้ว และประเพณีกาชงชาสองกานี้สืบทอดมาเรื่อยๆ จนถึงรัสเซียในยุคปัจจุบัน
ตามโรงแรมหรือภัตตาคารในสมัยแรกๆ นิยมให้ลูกค้าดื่มชาในแก้วใสแทนแก้วกระเบื้อง เพราะมีราคาถูกกว่าและทนทานกว่า รวมไปถึงแก้วใสยังสามารถใช้เสริฟเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อีกด้วย แต่ในโรงอาหารราคาถูกๆ ชาจะถูกชงเสร็จเรียบร้อยแล้วเหลือแต่เทใส่แก้วให้กับลูกค้า ซึ่งลูกค้าแต่ละคนต่างก็ต้องการให้เจ้าของร้านเทชาให้เยอะที่สุด และว่ากันว่าจากความต้องการชานี้เลยเป็นที่มาของวัฒนธรรมการรินชาในการต้อนรับแขกของชาวรัสเซีย ว่าจะต้องรินกันจนปริ่มปากแก้วซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความเต็มใจในการต้อนรับและไม่อยากให้แขกกลับ

ประเพณีการดื่มชาของชาวรัสเซียก่อนการปฏิวัติก็ไม่แตกต่างไปจากชาวตะวันออก คือ ดื่มชาพร้อมกับขนมหลากหลายบนโต๊ะ พูดคุยกัน หรือสนทนาเรื่องธุรกิจกัน ตามร้านชาในสมัยก่อนแบ่งออกเป็นสองห้อง คือ ห้องดื่มชา ที่เป็นที่ที่ทุกคนเข้ามาดื่มชากัน และอีกห้องหนึ่งคือห้องสำหรับติดต่อธุรกิจและเซนต์สัญญากัน ห้องดื่มชาในสมัยนั้นมีลักษณะเป็นโต๊ะใหญ่รวม ตรงกลางโต๊ะมีซามาวารตั้งอยู่และกาชาที่ชงเข้มไว้ ลูกค้าแต่ละคนเข้ามาก็จะมารินชาจากกาน้ำชาและเติมน้ำร้อนจากซามาวา เนื่องจากชาในสมัยนั้นยังคงมีราคาแพง ทำให้การดื่มชาดูเหมือนจะเจือจางพอๆ ไม่ต่างจากการดื่มน้ำเปล่า

ในขณะที่ชาวรัสเซียเริ่มนิยมดื่มชากันมากขึ้น ประกอบกับชานำเข้าจากจีนมีราคาแพง ในศตวรรษที่ 18 จึงได้มีการวางแผนที่จะปลูกชาขึ้นในรัสเซีย แต่ด้วยสาเหตุต่างๆ แพลนเหล่านั้นในที่สุดก็ล้มเหลว จนเมื่อถึงปี 1817 การปลูกชาในรัสเซียก็ประสบความสำเร็จ โดยสถานที่แรกที่มีการปลูกชาก็คือ สวนนิกิตสกี้ โบตานิเชสกี้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในยูเครน และเนื่องจากพระเจ้าซาร์ในสมัยนั้นไม่ได้ให้ความสำคัญกับการปลูกชา ทำให้ชาส่วนใหญ่ปลูกในบรรดากลุ่มผู้ที่ชื่นชอบชาและในกลุ่มคนที่ร่ำรวยที่ดิน
เมื่อเข้าสู่ช่วงโซเวียต ผู้นำโซเวียตหลายคนในสมัยนั้น โดยเฉพาะยุคเลนิน และสตาลิน ว่ากันว่าทั้งสองคนชอบดื่มชามาก และให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมชาในประเทศ ในช่วงเวลานั้นมีแนวคิดที่จะปลูกชาขึ้นเพื่อลดการนำเข้าชาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีน ต่อมาในช่วงปี 1920 ได้มีการจัดตั้งสถาบันเพื่อศึกษาและพัฒนาพันธุ์ชา โดยเฉพาะสรรหาพันธุ์ที่สามารถทนต่ออากาศหนาวเย็นของรัสเซียได้ ด้วยการศึกษานี้ทำให้ค้นพบชาสายพันธุ์ “จอเจียร์ No.8” ขึ้น ซึ่งสามารถทนต่ออากาศหนาวเย็นได้ถึง -25 องศา และด้วยการศึกษาพัฒนาพันธุ์ชานี้เองทำให้ต่อมามีการเพาะปลูกชาในที่อื่นๆ ในดินแดนโซเวียต เช่น อาเซอร์ไบจัน และครัสนอดาร์ ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จนในที่สุดสามารถผลิตเพื่อการส่งออกไปยังประเทศต่างๆได้ ไม่ว่าจะเป็น โปแลนด์ โรเมเนีย ฟินแลนด์ และมองโกเลีย

คนรัสเซียในปัจจุบันส่วนใหญ่แล้วดื่มชาดำ และต้องไม่เข้มมาก หากอยู่ในมื้ออาหารจะดื่มหลังจากทานอาหารเสร็จแล้ว หรือไม่ก็ดื่มยามว่างห่างจากมื้ออาหาร แต่จะไม่ดื่มก่อนอาหารหลักทันที ในช่วงของการดื่มชา บนโต๊ะจะประกอบไปด้วยของหวานต่างๆ เช่น ช้อกโกแลต น้ำผึ้ง แยม หรือน้ำตาล ในกรณีที่ไม่มีของหวาน ชาวรัสเซียก็จะเติมน้ำตาลลงในแก้วชาตามความชอบ บางคนก็อาจปาดเลม่อนแว่นเล็กๆ ลงไปแช่ไว้ในแก้วชาทั้งเปลือก เพื่อให้มีรสชาติหอม ส่วน น้ำผึ้ง และแยม ส่วนใหญ่แล้วจะใช้ช้อนตักกินแล้วก็ดื่มชาตาม หรือไม่ก็นำมาทากับขนมปังแล้วกัดกินสลับกับการดื่มชา แต่จะไม่ใส่ลงไปในแก้วชาโดยตรง

สิ่งที่ชาวรัสเซียใส่ไปในแก้วชาโดยตรงนอกจากน้ำตาลและมะนาวแล้ว ก็คือ นม และ ครีม วิธีการกินชาของคนรัสเซียอีกแบบหนึ่งคือ การกัดก้อนน้ำตาลทิ้งไว้ในปาก จากนั้นก็ซดชาตามเข้าไป ให้น้ำตาลในปากละลายไปกับความร้อนของชา การดื่มชาแบบนี้จะทำให้ประหยัดน้ำตาล เพราะในสมัยก่อนนั้นน้ำตาลมีราคาแพง บางบ้านที่มีฐานะไม่ดีเวลาชงชาเสร็จแล้วก็จะโรยน้ำตาลหยิบเล็กๆ ในแก้ว ส่วนถ้าบ้านไหนมีฐานะดีหน่อยก็จะใส่เป็นช้อนลงไป แต่ปัจจุบัน น้ำตาลจะวางไว้บนโต๊ะตรงกลาง โดยมีช้อนตักน้ำตาลอยู่ ใครที่ต้องการใส่น้ำตาลขนาดไหนก็ใส่ลงไปในแก้วชาด้วยช้อนนั้น จากนั้นก็ใช้ช้อนของแต่ละคนที่มีอยู่คน

ในสมัยก่อนที่จะมีกาต้มน้ำไฟฟ้าเหมือนในปัจจุบัน บนโต๊ะดื่มชาของชาวรัสเซียจะต้องมีกาน้ำชาที่เรียกว่า ซามาวาร์ ด้านในของซามาวาร์ใส่ถ่านติดไฟไว้เพื่อให้ความร้อนกับน้ำ ทำให้น้ำร้อนอยู่ตลอดเวลา ซามาวาปกติแล้วจะวางไว้ใกล้กับเจ้าของบ้าน อาจตั้งอยู่บนโตะที่ใช้ดื่มชากัน หรือไม่ก็เป็นโต๊ะตัวเล็กๆ ที่เอามาเสริม ที่ตั้งไว้ใกล้กันกับเจ้าของบ้านก็เพื่อที่ให้เจ้าของบ้านรู้ว่าน้ำในกาและชาเหลืออยู่ขนาดไหนแล้ว จะได้นำมาเติมให้เพียงพอสำหรับแขก รวมไปถึงเพื่อความสะดวกในการรินชาให้กับแขกจะได้ไม่ต้องเดินไกล ดังนั้นการต้อนรับแขก ยิ่งซามาวามีขนาดใหญ่ได้เท่าไหร่ยิ่งดี แม้ว่าในปัจจุบัน ซามาวาร์จะถูกแทนที่ด้วยกาต้ำน้ำไฟฟ้า แต่ก็ยังคงมีการผลิตซามาวาร์อยู่ในรูปของของที่ระลึกจากรัสเซีย

ประเพณีบางประเพณีที่เคยทำกันบนโต๊ะชาสมัยก่อนแต่ปัจจุบันไม่ทำกันแล้วก็มี เช่น การผูกผ้าพันไว้ที่คอในช่วงดื่มชา ประเพณีนี้ในปัจจุบันหายไปจากโต๊ะชาของชาวรัสเซียแล้ว ผ้าที่นำมาผูกไว้ที่คอขณะดื่มชาของคนสมัยก่อนก็เพื่อเอาไว้เช็ดเหงื่อเวลาดื่มนั่นเอง อีกหนึ่งประเพณีของชาวรัสเซียที่ปัจจุบันไม่ทำกันแล้วก็คือ เมื่อไปเป็นแขกบ้านไหนก็ตาม หากดื่มชาแก้วแรกที่เจ้าของบ้านรินให้หมดแล้ว แขกจะต้องปฎิเสธชาที่เจ้าของบ้านจะรินให้ในครั้งถัดไป จนกว่าเจ้าของบ้านจะรบเร้าหลายๆ ครั้งว่าให้ดื่มชา จึงจะอนุญาตให้เจ้าของบ้านเทชาให้ได้

การดื่มชาของชาวรัสเซีย เป็นวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมา แต่ในขณะเดียวกันก็ส่งผลต่อการทำงานในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าตารางการทำงานของชาวรัสเซีย จะหยุดพักยิบย่อย จนเราไม่รู้ว่าสถานที่แต่ละแห่ง หากไปใช้บริการจะแจ๊กพอตเจอเวลาหยุดพักดื่มชาของเขาหรือไม่ แต่ถึงกระนั้น ในฐานะต่างชาติอย่างเราๆ ทำได้ก็คงแค่ทำใจ และจดตารางดื่มชาของเค้าไว้ ครั้งต่อไปจะได้ไม่ไปช่วงที่เค้าพักกัน…….

ที่มา: https://www.facebook.com/SayHiRussia?fref=ts

No Comments

Post a Comment